นายกิติพัฒน์ ชลวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยลักซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ (TLUXE) คาดว่าผลการดำเนินงานในปีนี้จะพลิกกลับมามีกำไรจากปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 38.79 ล้านบาท แม้ว่าไตรมาส 1/59 ที่ผ่านมาบริษัทจะยังมีผลขาดทุนที่ระดับ 8.89 ล้านบาท
สำหรับแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทฯ ที่คาดว่าจะสามารถพลิกกลับมามีกำไรได้ในปีนี้ เป็นผลมาจากการที่บริษัทจะมีกำไรเพิ่มเข้ามาจากธุรกิจพลังงานไฟฟ้าจากใต้พื้นพิภพ (Geothermal) หลังบริษัทฯได้เข้าซื้อหุ้นบริษัท PPSN จากประเทศญี่ปุ่น ในสัดส่วน 100% ซึ่งมีโรงไฟฟ้าทั้งหมด 4 ยูนิต กำลังการผลิตรวม 500 กิโลวัตต์ ซึ่งจะให้กำไรเต็มปีที่ 50 ล้านบาท แต่ในปีนี้จะข้ามาส่วนหนึ่งจำนวน 25 ล้านบาท เนื่องจากโรงไฟฟ้า 2 ยูนิตแรก จำนวน 250 กิโลวัตต์ จะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในเดือนก.ค.นี้ ส่วนโรงไฟฟ้าอีก 2 ยูนิตที่เหลือจะเริ่ม COD ในเดือนก.ย.นี้
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานตั้งแต่ไตรมาส 2/59 เป็นต้นไปจะค่อยๆกลับมาฟื้นตัวขึ้นจากไตรมาส 1/59 อย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลมาจากแนวโน้มยอดขายธุรกิจอาหารสัตว์ อย่างเช่น อาหารกุ้งและอาหารปลาจะเริ่มมีการเติบโตขึ้น หลังจากในช่วงที่ผ่านมาผู้เลี้ยงสัตว์น้ำประสบปัญหาภัยแล้ง แต่เชื่อว่าหลังจากนี้ไปที่เข้าสู่ช่วงหน้าฝนผู้เลี้ยงสัตว์น้ำจะกลับมาเลี้ยงสัตว์ตามปกติ ประกอบกับบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับเจ้าของเฟรนไชส์ A&W ในการเปลี่ยนวัตถุดิบที่มาจากบริษัทแทนการนำเข้า ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจอาหารของบริษัทมีรายได้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้จะมีรายได้และกำไรจากธุรกิจพลังงานเข้ามาในครึ่งปีหลังซึ่งทำให้ผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก
“ไตรมาส 2/59 ก็ยังไม่มั่นใจว่าจะมีกำไรกลับมาได้ไหม แต่คาดว่าคงดีขึ้นจากไตรมาสแรกและดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งปีนี้เราก็หวังให้ผลการดำเนินงานของเราพลิกกลับมามีกำไรได้ในส่วนของกำไรสุทธิ ที่เรายังมีการขาดทุนอยู่เพราะไตรมาสแรกเรามีค่าเสื่อมที่เข้ามาเดือนละ 8 ล้านบาท จากโรงงานที่สงขลา มีการด้อยค่าของเงินลงทุน ภาษี Defered Tax และบริษัทย่อย NPP ที่เราถือหุ้น 45% รับรู้ผลในการขาดทุนเข้ามา ซึ่งตรงนี้ก็กดดันตัว Bottom line ของบริษัท แต่ตัว core business แล้วยังมีกำไรอยู่"นายกิติพัฒน์ กล่าว
นายกิติพัฒน์ กล่าวว่า ด้านการขยายธุรกิจพลังงานเพิ่มเป็น 30 ยูนิตนั้น บริษัทเตรียมเดินหน้าซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานไฟฟ้าจากใต้พื้นพิภพในประเทศญี่ปุ่นที่เหลืออีก 26 ยูนิต โดยมีกำลังการผลิตยูนิตละ 125 กิโลวัตต์ ให้ครบในเดือนมี.ค. 60 โดยจะใช้เงินลงทุนอีก 2.08 พันล้านบาท หรือ 80 ล้านบาท/ยูนิต เพื่อเข้าซื้อโรงไฟฟ้าที่เหลือให้ครบตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเงินลงทุนจะมาจากเงินกู้สถาบันการเงินในไทยและญี่ปุ่น เงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ออกหุ้นกู้ไปแล้วมูลค่า 1 พันล้านบาทอายุ 2 ปี และในเดือนก..ค.หรือส.ค.บริษัทจะออกหุ้นกู้ชุดใหม่อีก 500 ล้านบาท อายุ 2 ปี เพื่อใช้ในการลงทุนซื้อธุรกิจพลังงานในญี่ปุ่น
ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้าหมายมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจพลังงานเพิ่มเป็น 15% ภายในปี 61 หลังโรงไฟฟ้าเริ่ม COD ได้ครบทั้งหมด จากปีนี้ที่สัดส่วนรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าจะมีเพียง 2-3% ทั้งนี้บริษัทคาดว่าโรงไฟฟ้าที่เหลืออีก 26 ยูนิต จะ COD ครบทั้งหมดภายในปี 60
นอกจากนี้บริษัทได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การขายอาหารสัตว์มาเน้นขายภายในประเทศมากขึ้น โดยสัดส่วนรายได้จากการส่งออกจะลดลงเป็น 40% ในปีนี้จากปีก่อนที่ 60% และสัดส่วนรายได้จากในประเทศจะเพิ่มเป็น 60% จากปีก่อนที่ 40% ซึ่งการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เป็นการกระจายความเสี่ยงในเรื่องการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้น