ตัวแทนจาก บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) คือ นายสุทธิชัย ชื่นชูศิลป์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนา และนายอุทัย เพ็ญรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการส่วนงานกฎหมาย เข้ายื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. พร้อมทั้งวางหลักประกัน 3,783 ล้านบาท เพื่อเข้าประมูลแข่งราคาในวันที่ 27 พ.ค.59 นี้
ขณะที่คู่แข่งรายสำคัญทั้ง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้ส่งตัวแทนเข้ามายื่นเอกสารดังกล่าวแต่อย่างใด
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ทางบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลสเน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ส่งตัวแทนเข้ายื่นเอกสารเพื่อเข้าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz พร้อมวางหลักค้ำประกันเป็นแบงก์การันตีของธนาคารกรุงเทพ(BBL) และธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มูลค่า 3,783 ล้านบาทตามกำหนด
หลังจากนี้ในวันที่ 23 พ.ค.จะเข้าสู่กระบวนกการประกาศคุณสมบัติของผู้เข้าประมูล หลังจากนั้นคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ก็จะตรวจสอบและประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ และในวันที่ 25 พ.ค.จะเข้าสู่การทดสอบระบบประมูล (MOC Auction) ก่อนที่จะมีการเคาะราคาในวันที่ 27 พ.ค.โดยจะเริ่มเปิดต้นการประมูลตั้งแต่เวลา 9.00 น.เป็นต้นไป ณ ราคาตั้งต้น 75,654 ล้านบาท
นายฐากร กล่าวว่า แม้ว่าอาจมีผู้ประมูลเพียงรายเดียว คือ AWN เพราะยังไม่มีรายอื่นเข้ามยื่นเอกสารในขณะนี้ แต่กระบวนการก็จะต้องจัดประมูลตามที่ กสทช.กำหนดไว้ทุกกระบวนกการ โดยผู้เข้าประมูลจะต้องเคาะเพื่อยืนยันที่ราคาตั้งต้นเป็นครั้งแรก ซึ่งหากมีรายเดียวก็จะเป็นผู้ชนะการประมูลครั้งนี้ในการเคาะครั้งแรกดังกล่าว
นอกจากนี้ หลังการประมูลดำเนินการเสร็จสิ้น ทางสำนักงาน กสทช.จะส่งผลการประมูลให้ กสทช.พิจารณารับรองผลในวันเดียวกัน เพื่อให้กระบวนการเปิดใช้งาน 4G บนคลื่น 900 MHz ในส่วนที่เหลือดำเนินการได้โดยเร็วที่สุด โดย AWN จะมีระยะเวลาในการนำเงินมาชำระค่าประมูลภายใน 90 วันหลังจากสรุปผลการประมูล ซึ่งคาดว่าคงจะนำมาชำระก่อน 30 มิ.ย.59
นายฐากร กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดประมูลครั้งนี้เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณราว 18 ล้านบาท แต่คงใช้ไม่ถึง โดยอาจจะใช้เพียง 10 ล้านบาท ซึ่งกสทช.จะนำไปรวมเรียกค่าเสียหายจาก บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ นอกเหนือจากที่ริบเงินวางประกัน จำนวน 644 ล้านบาท โดยกระบวนการเรียกค่าเสียหายคาดว่าจะเสร็จสิ้นตามกำหนดในวันที่ 28 พ.ค.นี้ หลังจากเรียกตัวแทนจากธนาคารกรุงเทพ (BBL) มาชี้แจงในวันนี้
ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. จะนำข้อสรุปดังกล่าวนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการโทรคมนาคม (กทค.) ไม่เกินวันที่ 10 มิ.ย.นี้ จากนั้นจึงจะทำหนังสือเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติมกับแจสโมบายฯอย่างเป็นทางการ
"คณะกรรมการมีผู้แทนจากสำนักงานกฤษฎีกา และอัยการก็จะพิจารณาละเอียดมาก ว่าจะเรียกค่าเสียหายส่วนไหนได้บ้าง ถ้าฟ้องศาลก็จะต้องฟ้องชนะ" นายฐากร กล่าว