นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาแผนการก่อสร้างโรงงานพาราไซลีน (PX) กำลังผลิตราว 8-9 แสนตัน/ปี ซึ่งเป็นการลงทุนเองทั้งหมด โดยคาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในสิ่นปีนี้
ก่อนหน้านี้ บริษัทเคยมีแนวคิดจะร่วมกันดำเนินงานกับ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) และบมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เพื่อผลิตพาราไซลีน ขนาด 1.8 ล้านตัน/ปีนั้น แต่มองว่ารูปแบบดังกล่าวอาจจะมีความล่าช้า เนื่องจากต้องรอการขยายกำลังการกลั่นน้ำมันของ TOP แล้วเสร็จ ขณะที่บริษัทมีวัตถุดิบที่ใช้พาราไซลีนเหลือส่งออก
"เรากำลังศึกษาเรื่อง stand alone PX plan เพราะถ้าทำเป็นคอมเพล็กซ์ก็ยุ่งยาก ถ้าทำเล็กลง เอาวัตถุดิบจากเฉพาะไออาร์พีซี จะ economic กว่าไหม กำลังทำอยู่ขนาดก็จะเหลือแค่ 8-9 แสนตัน ถ้าเราทำคนเดียวเรามีวัตถุดิบทำได้แค่นั้น...ถ้าร่วมกันทำต้องรอโปรเจคของไทยออยล์กว่าจะเสร็จก็ 4-5 ปี เรามี porduct อยู่แล้วต้องส่งออก ถ้าเราทำก่อนก็จะทำได้เร็วกว่า คาดว่าผลศึกษาจะเสร็จสิ้นปีนี้ ถ้าผลศึกษาออกมาดีจะทำหรือไม่ก็ขึ้นกับสถานการณ์ด้วย ยังไม่แน่ใจว่าจะทำได้เลยหรือไม่"นายสุกฤตย์ กล่าว
นายสุกฤตย์ กล่าวว่า สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้โครงการสร้างโรงงานพาราไซลีนร่วมกันของทั้ง 3 บริษัทยังไม่มีความคืบหน้า เพราะส่วนต่าง (สเปรด) ราคาผลิตภัณฑ์ของพาราไซลีนยังอยู่ในระดับที่ไม่ดีจากปริมาณการผลิตในตลาดโลกที่มีจำนวนมาก แม้ปัจจุบันสเปรดพาราไซลีนจะทยอยดีขึ้นแต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ไม่ดีมากนัก ทำให้การศึกษาที่จะดำเนินการร่วมกันนั้นยังไม่มีความเหมาะสมในการดำเนินการ หากสถานการณ์ของพาราไซลีนดีขึ้นก็จะกลับมาศึกษาร่วมกันใหม่อีกครั้ง
ขณะที่ทั้ง 3 บริษัทยังคงมีวัตถุดิบที่ใช้ผลิตพาราไซลีนเหลือส่งออก โดยบริษัทมีแนฟทาคงเหลือส่งออก และเมื่อโครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ (UHV) ของโรงกลั่นที่จะเริ่มเดินเครื่องในเดือน พ.ค.นี้ ก็จะทำให้มีผลิตภัณฑ์ LCN (Light Cracked Naphtha) ซึ่งมีอะโรเมติกส์คอนเท้นท์สูงออกมาด้วย ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบผลิตพาราไซลีนได้ด้วย ซึ่งหากไม่นำ LCN มาใช้ผลิตพาราไซลีน บริษัทก็อยู่ระหว่างเจราจากับบริษัทในกลุ่ม บมจ.ปตท. (PTT) เพื่อนำ LCN ไปใช้ผสมในการทำแก๊สโซฮอล์ให้มากขึ้นด้วยเพื่อลดการนำเข้า
นายสุกฤตย์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้บริษัทยังไม่มีแผนการขยายงานไปยังต่างประเทศ เนื่องจากยังไม่มีเงินมากพอ หลังจากได้ลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและขยายกำลังการผลิตโรงงานปิโตรเคมีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มภัณฑ์ รวมถึงล่าสุดอยู่ระหว่างดำเนินโครงการ EVEREST เพื่อเพิ่มขีดความสามารถองค์กรในทุกด้าน โดยมีเป้าหมายจะผลักดันกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มเป็น 2.9 หมื่นล้านบาทในปี 63 ซึ่งหลังจากนั้นเชื่อว่าจะทำให้มีกระแสเงินสดคงเหลือที่จะใช้ขยายงานหรือปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการจัดทำแผน 5 ปีซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 4/59 ซึ่งหากมีกระแสเงินสดคงเหลือก็พร้อมที่จะลงทุนในต่างประเทศร่วมกับกลุ่ม ปตท.
"รอให้เราถึงยอดเขา EVEREST ก่อนถ้ามีเงินเหลือ ก็ดูว่าจะไปลงทุนที่ไหน เวลาทำแผนก็ต้องทำว่าปีนถึงยอดเขาแล้วมีกำไรตามแผน แล้วจะเอาเงินไปลงทุนอะไร มี 2 option คือจะปันผลให้ผู้ถือหุ้น หรือลงทุนเพื่อขยายงาน ขึ้นกับนโยบายซึ่งเราอยู่ระหว่างการจัดทำแผนระยะยาวจะแล้วเสร็จในไตรมาส 4 เป็นแผนปกติทำทุก 5 ปี"นายสุกฤตย์ กล่าว