นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกียรตินาคิน (KKP) เปิดเผยว่า ธนาคารอยู่ระหว่างเตรียมทบทวนเป้าหมายสินเชื่อรวมในปีนี้ ซึ่งมีโอกาสต่ำลงจากเป้าหมายเดิมที่ตั้งเป้าเติบโต 15-19% โดยจะมีการปรับลดเป้าหมายลงในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่เห็นการฟื้นตัวขึ้นส่งผลกระทบให้การปล่อยสินเชื่อของธนาคารบางประเภทพลาดเป้า
โดยเฉพาะสินเชื่อเอสเอ็มอีในช่วงที่ผ่านมาขยายตัวต่ำกว่าคาด เนื่องจากผู้ประกอบเอสเอ็มอีต่างชะลอการลงทุน เพราะยังไม่มั่นใจและยังมีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจ ส่วนสินเชื่อเกี่ยวข้องกับเทรดไฟแนนซ์นั้น ผู้ส่งออกไม่ได้ใช้วงเงินที่ธนาคารอนุมัติไว้ เพราะเศรษฐกิจโลกยังไม่ดีขึ้น ส่งผลให้การส่งออกของไทยชะลอตัวลงต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มสินเชื่อรวมในไตรมาส 2/59 ของธนาคารคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 1/59 ที่ติดลบ 1.2% โดยมีปัจจัยหนุนมาจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นตัวช่วยให้ภาพรวมดีขึ้น เนื่องจากธุรกิจขนาดใหญ่มีศักยภาพและความสามารถในการลงทุนมาก แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะยังไม่ดีขึ้น แต่ไนช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการขนาดใหญ่ต่างลงทุนอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการลงทุนขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ส่งผลให้ยังมีความต้องการสินเชื่อเพื่อใช้ลงทุน
นอกจากนี้ ธนาคารยังคาดหวังโอกาสร่วมปล่อยสินเชื่อให้กับ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เพื่อใช้สำหรับการซื้อขบวนรถไฟฟ้าใหม่ 46 ขบวน มูลค่ารวม 1.1 หมื่นล้านบาท โดยธนาคารมีความสนใจที่จะเข้าไปร่วมประมูลเพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับ BTS แต่สินเชื่อในส่วนนี้คงจะยังไม่บันทึกเข้ามาไตรมาส 2/59 ทันที เนื่องจาก BTS มีกำหนดรับมอบขบวนรถไฟฟ้าช่วงปี 61-63
นายอภินันท์ กล่าวว่า ในด้านสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารในไตรมาส 2/59 คาดว่าจะยังทรงตัวจากไตรมาส 1/59 ที่ระดับ 5.7% โดย NPL ของกลุ่มเอสเอ็มอี อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีสัดส่วนในพอร์ตสินเชื่อรวมค่อนข้างมามากยังทรงตัว แต่อย่างไรก็ตาม ธนาคารจะพยายามลดระดับ NPL ในสิ้นปีนี้ให้ไม่เกิน 4.5% ตามเป้าหมาย
ส่วนการตั้งสำรองของมองว่ายังคงเป็นไปตามปกติ เนื่องจากยังไม่มีสัญญาณความเสี่ยงที่ NPL จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ประกอบกับการสำรองในช่วงที่ผ่านมาถือว่ายังอยู่ในระดับที่เพียงพอ
นายอภินันท์ กล่าวถึงการขายหุ้น KKTrade ให้กับบริษัทหยวนต้า มูลค่า 687 ล้านบาทที่ผ่านมาว่า ไม่ได้กระทบต่อรายได้และกำไรของธนาคารมากนัก เนื่องจาก KKTrade มีส่วนแบ่งการตลาดไม่มากนัก ขณะที่ไม่ได้ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นด้านกำไรของธนาคารอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากคิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 4% ของกำไรทั้งหมด
สาเหตุที่ขาย KKTrade ออกไปเพื่อจะเน้นการให้บริการกลุ่มลูกค้าระดับบน (High Networth) ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของธนาคาร