PTTEP ลุ้นปีนี้พลิกมีกำไรเล็กน้อยแม้รายได้ต่ำกว่าปีก่อน-สรุปซื้อกิจการอย่างน้อย 1 ดีล

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 24, 2016 12:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวพรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มงานการเงินและการบัญชี บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) คาดปีนี้อาจพลิกมีกำไรสุทธิเล็กน้อย จากปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 854 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากในปีนี้บริษัทมุ่งเน้นการลดต้นทุนต่อหน่วย (unit cost) ให้อยู่ระดับ 34 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำปีที่แล้วที่อยู่ราว 39 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล รวมถึงอาจจะไม่มีการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์อีกหากราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปีนี้อยู่ในระดับ 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลตามที่บริษัทคาดการณ์

ทั้งนี้ ในไตรมาส 1/59 บริษัทมี unit cost ที่ระดับ 28.57 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลต่ำกว่าแผนที่กำหนดไว้ เพราะเมื่อปลายปีที่แล้วมีการบันทึกปริมาณสำรองเข้ามามากทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลง แต่ในไตรมาสต่อ ๆ ไปคาดว่าต้นทุนต่อหน่วยจะเพิ่มขึ้นจากการซ่อมบำรุงและบันทึกทรัพย์สินเข้ามาเพิ่มเติม แต่ก็จะพยายามรักษาต้นทุนต่อหน่วยในปีนี้ให้ได้ตามเป้าหมาย

ขณะที่ประเมินรายได้ปีนี้จะทำได้ต่ำกว่าระดับ 5,654 ล้านเหรียญสหรัฐในปีที่แล้ว เนื่องจากตั้งเป้าปริมาณการผลิตและขายปิโตรเลียมในปีนี้ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 3.22 แสนบาร์เรล/วัน แต่ราคาขายทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในปีนี้คาดว่าจะอยู่ระดับ 35-36 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล บนพื้นฐานราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยที่บริษัทคาดการณ์ โดยราคาขายผลิตภัณฑ์ในปีนี้นับว่าต่ำกว่าปีที่แล้วที่อยู่ระดับราคา 45.29 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

"ปีนี้เราเชื่อว่าราคาผลิตภัณฑ์คงไม่ได้ที่ระดับ 45 เหรียญฯ แต่ปริมาณขายเท่าเดิมรายได้ปีนี้ก็จะต่ำลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้วจากราคาที่ลดลง เราจึงต้องมุ่งที่จะเน้นลด unit cost เพื่อสร้างกำไรเพิ่มขึ้น"นางสาวพรรณนลิน กล่าว

นางสาวพรรณนลิน กล่าวว่า การที่บริษัทมีกระแสเงินสดในมือจำนวนมากราว 3.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้มองโอกาสการลงทุนเพิ่มเติม โดยเฉพาะการซื้อกิจการและร่วมลงทุน (M&A) ซึ่งบริษัทให้ความสนใจซื้อสินทรัพย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก ซึ่งรวมถึงการเข้าซื้อสัดส่วนการถือหุ้นแหล่งปิโตรเลียมยาดานา ในเมียนมา ของกลุ่มเชฟรอน และการซื้อสัดส่วนการถือหุ้นแหล่งบงกช ในอ่าวไทย จากกลุ่มเชลล์ โดยคาดว่าปีนี้จะสรุปดีล M&A ได้อย่างน้อย 1 ดีลในปีนี้

นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างรอนโยบายจากภาครัฐบาลในเรื่องการดำเนินสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุสัญญาในปี 65-66 โดยในส่วนนี้มีแหล่งบงกชที่บริษัทเป็นผู้ดำเนินการนั้นจะหมดอายุในปี 66 ด้วย โดยรอดูว่ารัฐบาลจะเปิดประมูลใหม่ หรือเจรจาให้รายเดิมบริหารจัดการต่อไป ซึ่งหากเป็นการบริหารจัดการต่อก็จะทำให้การผลิตปิโตรเลียมมีความต่อเนื่อง อีกทั้งหากรัฐบาลจะเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ซึ่งเป็นรอบที่ 21 บริษัทก็พร้อมให้ความสนใจ

อนึ่ง คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จะประชุมในวันที่ 30 พ.ค.นี้ เพื่อพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุในปี 65-66 ว่าจะให้มีการประมูลใหม่ หรือจะเจรจารายเดิมให้บริหารจัดการต่อ