นายเชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG) เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจว่าปี 59 รายได้จะเติบโตมากกว่า 15% จากปีที่ผ่านมามีรายได้รวม 17,300 ล้านบาท โดยช่วงไตรมาสแรกปีนี้พลิกมีกำไรสุทธิมากถึง 200.8 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 480.2 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการเปิดฉากเทิร์นอะราวด์อย่างชัดเจน
หลังจากผลไตรมาสแรกออกมาแล้ว เป็นสัญญาณของการเทิร์นอะราวด์อย่างเด่นชัด โดย TFG เริ่มทำกำไรได้แล้ว อันเป็นผลมาจากการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเดินหน้าเต็มสูบเพื่อขยายกำลังการผลิตในทุกด้าน ทั้งขยายการเลี้ยงไก่ระบบจ้างเลี้ยงและร่วมมือสนับสนุนพันธมิตรธุรกิจ ขยายการเลี้ยงสุกร ระบบจ้างเลี้ยงและ ระบบฟาร์มเช่า ขยายการผลิตอาหารสัตว์ที่โรงงานอาหารสัตว์กบินทร์ให้ได้ผลผลิตมากขึ้น ขณะเดียวกันยังมีการลดต้นทุน รวมไปถึงการขยายฐานลูกค้าอุตสาหกรรม และฟู้ดส์เซอร์วิส
“เนื่องจากสามารถคุมต้นทุนการผลิตได้ดี บริษัทจึงเริ่มเพิ่มปริมาณผลิตไก่ต่อเนื่องจาก 360,000 ตัวต่อวันเป็น 500,000 ตัวต่อวันภายในสิ้นปีนี้ พร้อมรุกเข้าสู่ตลาดในประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดรับกับแผนการขยายสาขา 33 แห่งในต่างจังหวัด การเตรียมส่งไก่ชำแหละให้กับสายการบิน เครือข่ายโมเดิร์นเทรด เครือข่ายฟู้ดส์เซอร์วิส และ โครงข่ายผู้ผลิตในประเทศ สำหรับการรุกตลาดต่างประเทศได้ทำการขยายกำลังการผลิตเพิ่มที่โรงงานชำแหละไก่ที่จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อรองรับการขยายตัวของการขายส่งออกสู่ต่างประเทศทั้งญี่ปุ่นและยุโรป ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ราคาขายไก่เฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาก"นายเชิดศักดิ์ กล่าว
นายเชิดศักดิ์ กล่าวต่อถึงธุรกิจสุกรว่า บริษัทได้รับอานิสงส์จากภาวะตลาดที่มีความต้องการสูงกว่าปริมาณสินค้าที่มีอยู่ เป็นผลให้ราคาสุกรสูงขึ้นต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าในปีนี้ธุรกิจสุกรน่าจะส่งผลดีทั้งปริมาณการขายและกำไรขั้นต้น โดยบริษัทได้เร่งการขยายธุรกิจดังกล่าวต่อเนื่องจากเดิมที่เป็นลักษณะขายสุกรเป็น ล่าสุดมีการรุกเข้าสู่ตลาดสุกรชำแหละส่งให้กับลูกค้าขนาดใหญ่ที่มีสาขาอยู่ในภาคตะวันออก และช่วยระบายสต็อกสุกรที่มีอยู่และเป็นการสร้างความต่อเนื่องและเสถียรภาพในการขายสินค้า
ด้านฟู้ดเซอร์วิสและอาหารปรุงสุกก็มีการขยายตัวที่ดีต่อเนื่อง มีจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นหลายราย รวมทั้งสายการบินขนาดใหญ่ที่ให้บริการแคเทอร์ริ่งเซอร์วิส ขณะนี้จะเริ่มใช้ไก่ชำแหละจากไทยฟู้ดส์ และโรงงานไส้กรอกเริ่มผลิตมากขึ้นทั้งไส้กรอกเกรดต่างๆ ขายตรงผ่านสาขาสู่ตลาดปลายทางถึงผู้บริโภค และผ่านตัวแทนขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นช่องทางที่ทำให้สามารถเข้าไปยึดครองตลาดส่วนนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ด้านธุรกิจผลิตและขายอาหารสัตว์ มีการเพิ่มกำลังการผลิตโรงงานที่กบินทร์บุรี จาก 17,500 ตันต่อเดือนเป็น 35,000 ตันต่อเดือน เมื่อรวมกับการผลิตที่โรงงานสุพรรณบุรี 65,000 ตันต่อเดือน จะรวมเป็น 100,000 ตันต่อเดือน