นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) วันนี้มีมติสรุปเรียกเก็บค่าเสียหายกับบริษัท แจสโมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) เพิ่มอีกจำนวน 199.42 ล้านบาท นอกเหนือจากที่ กสทช.ได้ริบเงินประกันการเข้าประมูล 644 ล้านบาทแล้วหลังจาก แจส โมบายฯ ไม่มาชำระเงินค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz ตามกำหนด
ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช.จะแจ้งให้ แจส โมบายฯ มารับทราบมติดังกล่าวภายในวันนี้ และกำหนดให้เวลามาชำระภายใน 15 วัน หรือ ภายในวันที่ 16 มิ.ย.นี้ ซึ่งหากแจสฯ ไม่ยอมก็ต้องฟ้องร้องเข้าสู่ศาลแพ่งต่อไป
"บอร์ด กทค.ได้มอบหมายให้สำนักงาน กสทช.เรียกเก็บเงินจากแจสกว่า 199 ล้านบาทให้มารับทราบวันนี้ และให้จ่ายภายใน 15 วัน แต่แจสฯ ยังโต้แย้งได้ภายใน 15วัน"เลขาธิการ กสทช.กล่าว
การสรุปยอดการเรียกเก็บค่าเสียหายดังกล่าว มาจากค่าใช้จ่ายการจัดการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ครั้งแรกในช่วงวันที่ 15-19 ธ.ค.58 ที่ราว 80.995 ล้านบาท ซึ่งมี 4 บริษัทเข้าร่วมประมูล ดังนั้น แจส โมบายฯ จึงมีส่วนของความรับผิดชอบจำนวน 20.248 ล้านบาท, ค่าใช้จ่ายการจัดประมูลคลื่น 900 MHz รอบสองเมื่อวันที่ 27 พ.ค.59 เบื้องต้นกรอบวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท จากที่ปรับลดลงจากเดิมที่ตั้งงบไว้ 18 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ยอดค่าใช้จ่ายการจัดประมูลยังไม่นิ่ง
นอกจากนี้ ยังให้เรียกเก็บดอกเบี้ยจากผิดนัดชำระค่าใบอนุญาตอีก 169.18 ล้านบาท ซึ่งเป็นการคิดจากอัตราดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ของวงเงินค่าใบอนุญาตงวดแรก 8,040 ล้านบาทที่ กทคซ.กำหนดให้แจส โมบายฯ ต้องชำระภายในวันที่ 21 มี.ค.59 โดยได้คิดดอกเบี้ยรายวันจนถึงวันที่ผู้ชนะประมูลรอบที่ 2 ต้องมาจ่ายเงินค่าใบอนุญาต หรือคาดไว้อย่างช้า 30 มิ.ย.นี้ หรือคิดเป็น 1.78 ล้านบาท/วัน
อย่างไรก็ตาม ผู้ชนะประมูลคลื่น 900MHz รอบใหม่ คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส. เน็ทเวอร์ค. จำกัด (AWN) บริษัทในกลุ่ม บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือเอไอเอส ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้แจ้งว่าชำระเงินเมื่อใด
ขณะที่ในแง่ของมูลค่าใบอนุญาตนั้น เนื่องจากการประมูลทั้งสองครั้งไม่มีส่วนต่าง เพราะมีราคาเท่ากันที่ 75,654 ล้านบาท ดังนั้น กทค.จึงไม่สามารถเรียกเก็บในส่วนนี้ได้ รวมทั้งค่าเสียโอกาสของรัฐในแง่ของการเปิดให้บริการล่าช้านั้น ขณะนี้ยังไม่เกิดขึ้น เพราะตามประกาศ กสทช.กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินกิจการภายใน 2 ปี หรือภายในวันที่ 23 มี.ค.61 ดังนั้น คาดว่าไม่สามารถดำเนินการเรียกค่าเสียหาย
นายฐากร กล่าวว่า ส่วนการยึดใบอนุญาตอื่นทั้งกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการอืนเตอร์เน็ต ไม่สามารถทำได้ เพราะใบอนุญาตเหล่านี้ออกใบอนุญาตตามประกาศ กสทช.
อนึ่ง JAS มีบริษัทในกลุ่มที่มีใบอนุญาตกิจการโทรทัศน์ คือ บมจ.โมโน เทคโนโลยี ( MONO) ส่วน บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด หรือ 3BB ได้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจให้บริการอินเตอร์เน็ต