นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) กล่าวว่า บริษัทจะร่วมกับพันธมิตรเดิมเพื่อเข้าร่วมประมูลเป็นผู้ดำเนินการผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งบงกชที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานในปี 65-66 เพื่อให้การผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งดังกล่าวมีความต่อเนื่อง และมีความมั่นคงด้านพลังงาน
ส่วนจะเข้าร่วมประมูลแหล่งเอราวัณของกลุ่มเชฟรอนที่จะหมดอายุเช่นเดียวกันนั้นหรือไม่ ยังไม่สามารถระบุได้ขณะนี้ แต่ยืนยันว่าจะใช้ปัจจัยการพิจารณาว่าผู้รับสัมปทานรายเดิมจะทำให้การผลิตปิโตรเลียมมีความต่อเนื่องเป็นหลัก
"key หลักคือความต่อเนื่อง เราเชื่อว่าการผลิตปิโตรเลียมจากรายเดิมน่าจะทำให้เกิดความต่อเนื่องได้ดี ซึ่งการเข้าร่วมประมูลแหล่งบงกชก็จะต้องเป็นการลงทุนเพื่อให้ผลตอบแทนและสร้างความต่อเนื่องให้กับประเทศ ส่วนจะประมูลโครงการของเชฟรอนหรือไม่นั้นเราคงต้องดูจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะเรื่องของความต่อเนื่อง ณ วันนี้เรายังบอกไม่ได้"นายสมพร กล่าว
สำหรับสัมปทานปิโตรเลียมในอ่าวไทยที่จะหมดอายุในปี 65-66 ประกอบด้วย แปลงสำรวจหมายเลข B10,B11 ,B12 และ B13 ของกลุ่มบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด โดยมีแหล่งเอราวัณ เป็นแหล่งผลิตสำคัญ จะหมดอายุในปี 65 ขณะที่แปลงสำรวจหมายเลข B15 ,B16 และ B17 ของ PTTEP โดยมีแหล่งบงกช เป็นแหล่งผลิตสำคัญนั้น โดยแปลงสำรวจหมายเลข B15 จะหมดอายุในปี 65 ส่วน B16 และ B17 จะหมดอายุในปี 66
แหล่งบงกชนั้น ปัจจุบัน มี PTTEP ถือหุ้น 44.44% ,บริษัท โททาล อีแอนด์พี ไทยแลนด์ 33.33% และบริษัท บีจี เอเชีย แปซิฟิก พีทีอี จำกัด 22.22% โดยมี PTTEP เป็นผู้ดำเนินการ
นายสมพร กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการรอหลักเกณฑ์การประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมดังกล่าง หลังจากรัฐบาลตัดสินใจใช้วิธีเปิดประมูลเป็นการทั่วไปก่อน หากไม่สำเร็จก็จะเจรจากับผู้รับสัมปทานรายเดิม เบื้องต้นเห็นว่าหากรัฐบาลเปิดประมูลในระบบสัมปทานเหมือนเช่นเดิมจะทำให้สามารถเข้าไปสำรวจและพัฒนาเพื่อนำปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ได้อย่างคุ้มค่ากับการลงทุนมากกว่าการประมูลในแบบแบ่งปันผลผลิต (PSC)
แต่ไม่ว่ารัฐบาลจะเลือกการประมูลในรูปแบบใดบริษัทก็พร้อมที่จะเข้าร่วมประมูล และพร้อมจะให้ผลตอบแทนแก่ภาครัฐเพิ่มขึ้นตามเงื่อนไขการประมูลที่คาดว่าจะอยู่บนพื้นฐานระบบ Thailand 3 ขณะที่มองในฐานะที่เป็นเจ้าของพื้นที่สัมปทานเดิมก็คาดว่าจะมีความได้เปรียบจากการผลิตด้วยต้นทุนการผลิตที่ดี
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลตั้งเป้าหมายที่จะเปิดประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ซึ่งหากบริษัทได้สิทธิในการผลิตก็จะทำให้มีระยะเวลาเพียงพอที่จะเข้าดำเนินการผลิตให้มีความต่อเนื่อง โดยมองว่าการสำรวจพื้นที่ปิโตรเลียมเพิ่มเติม การสร้างแท่นผลิต รวมถึงการการผลิตน่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 5-6 ปี ส่วนกรณีเลวร้ายสุดหากประมูลแหล่งปิโตรเลียมไม่ได้นั้น บริษัทก็มีแผนรองรับอยู่แล้วแต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่บริษัทไม่เคยคิดถึงกรณีการประมูลไม่ได้เพราะเห็นว่าเรื่องของการผลิตที่ต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
สำหรับแหล่งบงกช นับเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติ ที่สร้างรายได้หลักให้กับบริษัท โดยมีปริมาณการผลิตตามสัญญาซื้อขาย 850 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน หรือคิดเป็นราว 20% ของปริมาณการผลิตปิโตรเลียมทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันบริษัทก็ยังคงระดับการผลิตตามสัญญา แต่จะเริ่มลดลงในช่วงท้ายของสัญญาซึ่งเป็นไปตามสัญญาซื้อขาย โดยคาดว่าหากไม่มีการสำรวจและพัฒนาเพิ่มเติม ช่วงใกล้หมดอายุสัมปทาน 2-3 ปีก็จะเห็นปริมาณการผลิตที่ลดลงได้อย่างชัดเจน
ขณะที่การจัดทำแผนลงทุน 5 ปี (ปี 59-63) ของบริษัทที่มีมูลค่า 17,765 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งรวมรายจ่ายดำเนินงานและรายจ่ายลงทุนนั้น และเป้าหมายปริมาณขายปิโตรเลียมรวมที่จะอยู่ระดับ 3.02 แสนบาร์เรล/วันในปี 63 ซึ่งลดลงจากเป้าหมายปริมาณการขายในปีนี้ที่ราว 3.22 แสนบาร์เรล/วันนั้น ตั้งอยูบนพื้นฐานอายุสัมปทานของแหล่งบงกชที่จะสิ้นสุดลงตามสัญญาสัมปทานดังกล่าวอยู่แล้ว ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมอยู่ที่ระดับ 738 ล้านบาร์เรล
นายสมพร กล่าวด้วยว่า บริษัทยังให้ความสนใจที่จะเข้าซื้อสินทรัพย์ปิโตรเลียมทั้งในประเทศ และในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังผู้ผลิตปิโตรเลียมหลายใหญ่ของโลกทั้งกลุ่มเชลล์ ,เชฟรอน และเอกซอน เสนอขายออกมาเพื่อปรับพอร์ตสินทรัพย์ให้มีความเหมาะสมภายใต้ภาวะราคาน้ำมันที่ต่ำ โดยปัจจุบันมีการเสนอขายสินทรัพย์ออกมาในพื้นที่ประเทศไทย,อินโดนีเซีย ,มาเลเซีย ซึ่งบริษัทก็มองเป็นโอกาสในการลงทุนเช่นเดียวกัน เนื่องจากปัจจุบันมีกระแสเงินสดในมือจำนวนมากราว 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งพร้อมที่จะลงทุนได้
ขณะเดียวกันบริษัทก็มีการปรับพอร์ตสินทรัพย์ของตัวเองด้วยเช่นกัน โดยในส่วนของโครงการสำรวจปิโตรเลียม ที่บางแหล่งมีสัดส่วนการลงทุนสูง ก็จะลดสัดส่วนลงด้วยการหาพันธมิตรเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งก็ยังดำเนินการต่อเนื่อง เช่น โครงการในเมียนมา เป็นต้น ส่วนโครงการที่มีการผลิตปิโตรเลียมอยู่แล้ว ก็จะใช้กลยุทธ์ในการลดต้นทุนเป็นหลัก แต่บางพื้นที่หากผู้สนใจจะขอร่วมทุนและได้ราคาเหมาะสมก็สนใจที่จะลดสัดส่วนบ้าง แต่ไม่ได้ตั้งใจจะขายสินทรัพย์ออกมาเป็นหลักเพราะบริษัทยังกระแสเงินสดในมือเป็นจำนวนมาก
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในปีนี้ ค่อนข้างมั่นใจว่าผลการดำเนินงานปกติน่าจะเป็นบวกได้จากกลยุทธ์การลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วย (unit cost) ลงมาเหลือระดับ 34-35 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ประเมินว่าราคาน้ำมันดิบน่าจะอยู่ที่ราว 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งทำให้ราคาขายผลิตภัณฑ์สูงกว่าต้นทุนการผลิตก็จะทำให้สามารถทำกำไรได้