นายพงษ์ศักดิ์ ศิริคุปต์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.เด็มโก้ (DEMCO) เปิดเผยว่าบริษัทฯยังไม่สามารถประเมินได้ว่าปีนี้ผลประกอบการจะกลับมามีกำไรได้หรือไม่ หลังจากไตรมาส 1/59 ที่ผ่านมาบริษัทฯมียังมีผลขาดทุนอยู่ 222.43 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการแก้ไขฐานเสากังหันลมของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมห้วยบง โดยเฟส 1 ทำแล้วเสร็จไปแล้ว และยังเหลือเฟส 2 ที่มีกังหันลมทั้งหมด 41 ต้น ซึ่งปัจจุบันยังรอแบบการแก้ไขจาก บริษัท วินด์ เอ็นเนอร์ยี่ โฮลดิ้งส์ จำกัด (WEH) โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการเฟส 2 ได้ในเดือน มิ.ย. นี้
"ปีนี้เรายังไม่สามารถบอกได้ว่าเราจะมีผลประกอบการออกมามีกำไรหรือไม่ เพราะเรายังต้องดูผลขาดทุนของการแก้ไขฐานเสากังหันลมก่อนว่าจะมากน้อยเพียงได ซึ่งเราอาจจะแบ่งการปรับปรุงฐานรากบางส่วนไปปี 60 เพื่อที่จะลดผลขาดทุน และหากผลประกอบการส่วนอื่นเข้ามาชดเชยทันก็อาจจะมีผลกำไร"นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่สามารถประมาณการหนี้สินที่จะเกิดขึ้นจากเงินชดเชยค่าเสียโอกาสในการขายไฟฟ้าระหว่างที่ยังไม่ได้ปรับปรุงฐานกังหัน เนื่องจากข้อจำกัดของปัจจัยต่างๆ ที่กระทบต่อการประเมินผลผลิตไฟฟ้า
“การปรับปรุงฐานเสากังหันลมโครงการห้วยบงนั้น นอกจากจะเป็นความรับผิดชอบของบริษัทในฐานะผู้รับเหมาก่อสร้างแล้ว ยังจะเป็นการสนับสนุนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯของบริษัท วินด์ เอ็นเนอร์ยี่ โฮลดิ้งส์ จำกัด (WEH) ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการด้วย ขณะเดียวกันบริษัทยังคงถือหุ้นใน WEH จำนวน 4.2 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นประมาณ 4% ของทุนชำระแล้วก็เป็นมูลค่าสินทรัพย์ที่รอการประเมินราคาใหม่เมื่อ WEH จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทอาจจะขายหุ้น WEH บางส่วนหากต้องมีการใช้เงินลงทุน"นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว
นายพงษ์ศักดิ์ เปิดเผยอีกว่า บริษัทฯยังคงเป้าหมายรายได้ในปีนี้เติบโตประมาณ 10-15% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีรายได้รวม 5,207 ล้านบาท โดยปัจจุบันมีงานในมือ (Backlog) ประมาณ 7,000 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้จนถึงปี 60 แบ่งเป็นงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าให้กับพลังงานทดแทน 2,600 ล้านบาท คาดว่าจะรับรู้เป็นรายได้ในปีนี้ทั้งหมด, งานวิศวกรรมไฟฟ้า 4,300 ล้านบาท คาดจะรับรู้รายได้ปีนี้ทั้งปีไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทยังจะเข้าประมูลงานของสายส่งและสถานีไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ราว 1 หมื่นล้านบาท ,งานสายส่งไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มูลค่า 4.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทยอยประมูลตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป และคาดว่าจะได้รับงานจาก กฟผ.ประมาณ 10% หรือประมาณปีละ 1,000 ล้านบาท กฟน.ประมาณ 500 ล้านบาท รวมถึงจะประมูลงานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อีก 7 พันล้านบาท คาดหวังว่าจะได้งาน 20% ยังไม่นับรวมงานเสาโครงเหล็กที่ได้รับงานเพิ่มขึ้น หลังจากที่การประมูล 4G จบลง ซึ่งค่ายมือถือมีนโยบายลงทุนในระบบโครงข่ายสัญญาณโทรคมนาคมในปีนี้รวมกันไม่น้อยกว่า 3-4 หมื่นล้านบาท
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่เขาค้อจะเริ่มขายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ (COD) ในไตรมาส 3/59 และภายในปี 60 คาดว่าจะได้รับเงินปันผลประมาณ 40 ล้านบาท
ขณะที่การลงทุนโครงการพัฒนาระบบน้ำประปาในลาว คาดว่าจะสามารถจ่ายน้ำได้ประมาณปลายไตรมาส 3 ถึงต้นไตรมาส 4 ของปีนี้ และลาวยังเตรียมพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำสูญเสียและระบบไฟฟ้าใต้ดินในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ด้วยเช่นกัน