(เพิ่มเติม) BM เจรจาพันธมิตรยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น-พม่าหาแนวทางร่วมขยายธุรกิจ,ศึกษาตั้ง รง.เพิ่ม

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 6, 2016 11:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีรวัต อมรธาตรี กรรมการผู้จัดการ บมจ.บางกอกชีทเม็ททัล (BM) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการขยายธุรกิจในหลายรูปแบบทั้งการดำเนินการด้วยตัวเอง และการร่วมกับพันธมิตร โดยในไตรมาส 3/59 บริษัทจะเจรจากับพันธมิตร ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ระดับ Top 5 ในธุรกิจไฟฟ้าของญี่ปุ่นที่เคยว่าจ้างให้บริษัทผลิตสินค้า จากการพูดคุยในเบื้องต้นสนใจเข้ามาถือหุ้น 20-25%

"ในไตรมาส 3 จะมาคุยกันว่าจะมีโอกาสร่วมธุรกิจอย่างไร ที่สิงคโปร์เขาเข้าไปซื้อกิจการทั้ง 100% แต่ที่คุยกันล่าสุดก็อยากได้ 20-25% ถ้าจะเข้ามาก็ต้องเป็นผู้ถือหุ้นที่ไม่ต้องบริหาร และต้องการสร้างความแข็งแกร่งร่วมกัน"นายธีรวัต กล่าว

พร้อมกันนั้น บริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรท้องถิ่นในพม่า 2-3 ราย ซึ่งอยู่ในธุรกิจเทรดดิ้งในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง เพื่อหาโอกาสทางธุรกิจที่จะขยายไปยังพม่า เนื่องจากตลาดการก่อสร้างในพม่ามีการเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าและโรงแรม ส่งผลดีต่อความต้องการท่อร้อยสายไฟ รางร้อยสายไฟ ซึ่งเป็นสินค้าในกลุ่มหลักของบริษัท โดยบริษัทมีความพร้อมทั้งการส่งสินค้าไปขาย หรือการเข้าไปตั้งโรงงานผลิตหากมียอดขายที่มากพอ

"พันธมิตรที่เราจะร่วมมือด้วย ต้องเป็นนักอุตสาหกรรม ชอบผลิตเหมือนเรา เพราะวิธีคิดแตกต่างจากเทรดดิ้ง ถ้าจะให้ดีต้องอยู่และกลุ่มแปรรูปโลหะ หรือมีเงินทุน"นายธีรวัต กล่าว

อย่างไรก็ตาม บริษัทเองก็ได้ศึกษาแนวทางการตั้งโรงงานเพิ่มเติมในเขตเศรษฐกิจพิเศษแนวตะเข็บชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน อาจจะเป็นฝั่งไทยหรือฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะชายแดนด้านที่สามารถเชื่อมต่อกับโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายของพม่า เนื่องจากขณะนี้การนำเข้าเหล็กมาเป็นวัตถุดิบมาในประเทศมีปัญหาเรื่องกำแพงภาษี ขณะที่บริษัทเตรียมแผน Replacement เครื่องจักรในโรงงานหลัก โดยอาจจะย้ายเครื่องจักรเก่าไปไว้โรงงานใหม่ที่ใกล้กับกลุ่มลูกค้า เพื่อประหยัดต้นทุนค่าขนส่ง คาดว่าจะใช้ที่ดินสร้างโรงงานราว 3 ไร่ ประเมินเงินลงทุนเบื้องต้นราว 100 ล้านบาท

สำหรับความพร้อมในด้านเงินทุนนั้น แม้ว่าเงินที่ได้รับจากการระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) กว่า 200 ล้านบาทอาจจะใช้ลงทุนทั้งหมดภายในปีหน้า แต่บริษัทยังมีช่องทางการระดมทุนด้วยเครื่องมือการเงินอื่น ๆ ทั้งการกู้เงินจากสถาบันการเงินและการออกตราสารทางการเงิน เช่น หุ้นกู้ หรือตั๋วเงินระยะสั้น เพื่อไม่ให้กระทบกับฐานทุน ส่วนจะใช้รูปแบบใดคงต้องให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่ใช้เงินลงทุนเป็นหลัก

นายธีรวัต กล่าวอีกว่า บริษัทยังมีแผนจะผลิตสินค้านวัตกรรมใหม่ที่เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง (End user) ภายใต้แบรนด์ของตัวเอง หลังจากบริษัทมีประสบการณ์ในการพัฒนาสินค้าเครื่องจักรกลเกษตรประเภทต่าง ๆ ร่วมกับคู่ค้าสำคัญคือ คูโบต้า ที่ยังเดินหน้าอยู่นั้น บริษัทก็มีการวิจัยพัฒนาเครื่องยนต์เครื่องกลในรูปแบบอื่น ๆ อย่างเช่น รถสามล้อไฟฟ้า ที่มีโอกาสพัฒนาไปสู่การเป็นสินค้าภายใต้แบรนด์ของบริษัทในอนาคต

ด้านแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทนั้น นายธีรวัต เปิดเผยว่า ยอดขาย 2 เดือนแรกของไตรมาส 2/59 ใกล้เคียงช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่คาดว่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับไตรมาสแรกที่ยอดขายอาจจะเติบโตไม่มาก แต่กำไรเติบโตก้าวกระโดด เนื่องจากบริษัทสามารถบริหารการผลิตและควบคุมต้นทุนได้ดี ส่วนทั้งปีรายได้จะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 20-25% หรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญคือภาพรวมภาวะเศรษฐกิจของประเทศและการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐจะขับเคลื่อนได้จริงเมื่อใด ซึ่งคาดว่าจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 3/59


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ