การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เดินหน้าลงทุนพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ตามนโยบายรัฐบาล และยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย และมั่นใจว่ารถไฟทางรู่อีก 5 เส้นทางที่เหลือจะเปิดประมูลได้ทันภายในปี 59 โดยล่าสุด 2 เส้นทาง ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ลงมือก่อสร้างก้าวหน้าไปแล้ว 0.75-1.42% คาดว่าจะทยอยแล้วเสร็จในปี 61-62
นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการ รฟท.เปิดเผยว่า โครงการรถไฟทางคู่ที่เหลือตามแผนงานอีก 5 เส้นทาง ได้แก่ รถไฟทางคู่ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร รถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กม. รถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. รถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม. และรถไฟทางคู่หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กม. คาดจะทยอยเปิดประกวดราคาได้ภายในปี 59 ทั้งหมด เป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 8 ปีที่กำหนดไว้
รฟท.ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางได้มีการดำเนินงานสนองต่อนโยบายของรัฐบาล โดยที่ผ่านมาได้มีการลงนามสัญญาจ้างผู้รับจ้างโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สำเร็จแล้ว 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น
ทั้งนี้ ปัจจุบันทั้ง 2 เส้นทาง ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างไปแล้วตามแผนตั้งแต่เดือน ก.พ. 59 ที่ผ่านมา และมีความก้าวหน้าไปตามลำดับ ดังนี้เส้นทางแรก รถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอยสัญญาที่ 1 งานก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-วิหารแดง และช่วงบุใหญ่-แก่งคอย ระยะทาง 97 กม. และทางคู่เลี่ยงเมือง (Chord Lines)3 แห่ง ระยะทาง 7.1 กม.ขณะนี้มีความก้าวหน้าไปแล้ว 0.75%และคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จได้เดือนก.พ. 61
ส่วนงานสัญญา 2 งานก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงวิหารแดง-บุใหญ่ ระยะทาง 9 กม. พร้อมอุโมงค์รถไฟลอดใต้เขาพระพุทธฉาย ระยะทาง 1.2 กม.มีความก้าวหน้าไป 0.80%และก่อสร้างเสร็จเดือน เม.ย. 61
ขณะที่โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 187 กม.มีความก้าวหน้าในการก่อสร้างไปแล้ว 1.42%และก่อสร้างเสร็จเดือน ก.พ. 62
“จากการที่นายกรัฐมนตรี และกระทรวงคมนาคม ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จะช่วยให้เกิดการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทางรางได้ครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการสร้างรถไฟทางคู่จะช่วยแก้ปัญหาความคับคั่งของการเดินรถและลดระยะเวลาสับหลีกขบวนอันเป็นอุปสรรคให้การขนส่งทางรถไฟล่าช้า รวมถึงยังช่วยลดต้นทุนการขนส่งต่อหน่วยให้ถูกลงจากปัจจุบันไทยมีต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพีสัดส่วนร้อยละ 14.2 ตลอดจนช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศได้ในระยะยาว"ผู้ว่า รฟท. กล่าว