นายมณฑล จุนชยะ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บมจ.วรรณ เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่โพลสำรวจความคิดเห็นก่อนการลงประชามติเรื่องการออกจากสมาชิกภาพในกลุ่มยูโรของประเทศอังกฤษ โดยคะแนนเสียงด้านสนับสนุนให้ประเทศอังกฤษออกจากสมาชิกภาพกลุ่มยูโรขยับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 55%:45% ซึ่งการลงประชามติจะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า ได้ส่งผลให้ตลาดเริ่มกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มที่ประเทศอังกฤษจะออกจากประเทศสมาชิกภาพ และเริ่มลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง อาทิ ค่าเงินในสกุลยูโร และ สกุลเงินปอนด์อังกฤษ โดยเพิ่มการถือครองสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ฟรังก์สวิต(ประเทศสวิตเซอร์แลนด์) และเยน (ประเทศญี่ปุ่น) โดยค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นแตะจุดต่ำสุดในรอบ 1 สัปดาห์ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อภาพการลงทุนตลาดหุ้นภูมิภาครวมถึงตลาดหุ้นไทย ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์เสี่ยงประเภทหนึ่ง
ตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้มีโอกาสปรับตัวลดลง โดยนักลงทุนเริ่มกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น หลังตลาดเริ่มมีความเสี่ยงเพิ่มเติม โดยมองกรอบการเคลื่อนไหวที่ระดับ 1,400–1,450 จุด อีกทั้งมองว่า กระแสเงินทุนต่างชาติจะเริ่มลดลง หลังจากตั้งแต่ต้นเดือนเงินทุนต่างชาติได้ไหลเข้ามาในตลาดหุ้นภูมิภาคและตลาดหุ้นไทยมาตลอด เนื่องจากยิ่งใกล้วันลงประชามติประกอบกับมีผลโพลสนับสนุนให้ประเทศอังกฤษออกจากสมาชิกภาพยูโร ทำให้นักลงทุนมีความกังวลต่อปัจจัยที่ไม่แน่นอน และเป็นประเด็นใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อีกทั้ง ราคาน้ำมันในตลาดโลกได้เริ่มปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งจะกระทบต่อหุ้นขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นไทย ในส่วนของค่าเงินของไทยนั้น ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามภูมิภาค แต่ผมมองว่าไม่ได้เป็นการอ่อนค่าลงจากความไม่เชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น ไม่น่าจะอ่อนค่าลงแบบรุนแรง
สำหรับภาพการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ อัตราผลตอบแทนของตลาดตราสารหนี้ไทยสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐที่ปรับตัวต่ำสุดในรอบ 4 เดือน ซึ่งเป็นผลสะท้อนถึงความกังวลต่อปัจจัยเสี่ยงในตลาดเพิ่มขึ้นเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ในสัปดาห์นี้จะมีผลประชุมธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งบริษัทมองว่า ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐจะเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการดำเนินนโยบายทางการเงินของสหรัฐในระยะถัดไป อีกทั้งจะมีการประชุมธนาคารกลางของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งบริษัทจะให้น้ำหนักในการติดตามผลการประชุมของประเทศอินโดนีเซียในรอบนี้ เนื่องจากมองว่า หากธนาคารกลางอินโดนีเซียมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง อาจเป็นสัญญาณกดดันให้กับคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ของไทย ที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 มิถุนายนนี้ พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงตาม เพื่อรักษาส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างประเทศไม่ให้แตกต่างกันมากจนเกินไป