บมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) เตรียมแผนลงทุนราว 3-5 พันล้านบาทในช่วงปี 61-64 เพื่อรองรับการสร้างโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) ทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่หมดสัญญาขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 4 สัญญาในช่วงเวลาดังกล่าว จากทั้งหมด 7 สัญญา คิดเป็นปริมาณขายไฟฟ้ารวม 500 เมกะวัตต์ (MW) ที่จะหมดอายุในช่วงปี 60-68 แม้โรงไฟฟ้าที่จะสร้างทดแทนโรงเดิมนั้นจะมีปริมาณขายไฟฟ้าให้กฟผ.ลดลงจากเดิมตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งทำให้รายได้การขายไฟฟ้าให้กับกฟผ.ลดลง แต่ก็เชื่อว่าจะยังสามารถรักษากำไรของกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมอยู่ได้แม้ภาพรวมลูกค้าอุตสาหกรรมจะเติบโตไม่มากในช่วงสั้นก็ตาม
พร้อมมองโอกาสการเข้าลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนและการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าขนาดเล็กในประเทศ ส่วนการลงทุนในต่างประเทศนั้นอาจจะยังไม่เห็นเพิ่มในช่วงระยะสั้น 1-2 ปีข้างหน้านี้
นายปจงวิช พงษ์ศิวาภัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายการเงิน GLOW กล่าวว่า บริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า SPP กับ กฟผ.ทั้งหมด 11 สัญญา โดยมี 7 สัญญาที่มีปริมาณขายไฟฟ้ารวม 500 เมกะวัตต์ประเภทโคเจนเนอเรชั่นจะหมดอายุในช่วงปี 60-68 ซึ่งล่าสุดรัฐบาลได้อนุมัติแนวทางสนับสนุนกลุ่ม SPP ให้ต่ออายุสัญญาสำหรับโรงไฟฟ้าที่จะหมดอายุในปี 60-61 และให้สิทธิสร้างโรงไฟฟ้าใหม่สำหรับโรงไฟฟ้าที่หมดอายุในช่วงปี 62-68 ภายใต้เงื่อนไขปริมาณการรับซื้อและอัตราการรับซื้อลดลงจากเดิม
สำหรับบริษัทมี SPP ที่จะหมดอายุสัญญาในปี 60 จำนวน 2 สัญญา ปริมาณขายไฟฟ้าสัญญาละ 90 เมกะวัตต์ รวม 180 เมกะวัตต์ ,หมดสัญญาในปี 64 จำนวน 2 สัญญา ปริมาณขายไฟฟ้าสัญญาละ 55 เมกะวัตต์ รวม 110 เมกะวัตต์ ,หมดสัญญาในปี 67 จำนวน 2 สัญญา ปริมาณขายไฟฟ้าสัญญาละ 60 เมกะวัตต์ รวม 120 เมกะวัตต์ และหมดสัญญาในปี 68 จำนวน 1 สัญญา ปริมาณขายไฟฟ้า 90 เมกะวัตต์
ตามนโยบายของรัฐบาล GLOW จะได้รับการต่ออายุสัญญาสำหรับโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 2 สัญญาในปี 60 ออกไปอีก 3 ปีก่อน โดยมีปริมาณรับซื้อไม่เกิน 60 เมกะวัตต์ และได้สิทธิสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่เดิมทั้งหมด โดย กฟผ.จะรับซื้อไฟฟ้าไม่เกิน 30 เมกะวัตต์ต่อสัญญา ซึ่งทำให้บริษัทต้องเตรียมเงินลงทุนเพื่อรองรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้า SPP ทดแทนโรงไฟฟ้าที่ใกล้หมดอายุก่อนในเบื้องต้น 4 สัญญา ราว 3-5 พันล้านบาท คาดว่าจะเริ่มใช้เงินในช่วงปลายปี 61-64
"หลังหมดสัญญากับ กฟผ.รายได้ในส่วนของ กฟผ.ก็จะลดลง แต่ในส่วนของลูกค้าเราเชื่อว่าจะยัง maintain กำไรได้เพราะส่วนลูกค้ายังเหมือนเดิมอาจจะเพิ่มขึ้นเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่การที่เราสามารถผลิตได้จากยูนิตที่ใหม่ขึ้นก็จะช่วยประหยัดขึ้น...ช่วงนี้เราจะเน้นการสร้างเพื่อทดแทนยูนิตเก่า การเติบโตของเราในระยะสั้นก็ต้องโตตาม consumption ของลูกค้า ถ้ามี consumption จากลูกค้าก็จะขยาย การ replace ให้มี spread capacity ได้บ้างถ้าจะมีลูกค้าขยายตัวเราก็สามารถรองรับลูกค้าได้ ส่วนลูกค้าจะขยายตัวมากน้อยแค่ไหนเราไม่ได้ control ตรงนั้น แต่แนวโน้มการขยายตัวช่วงนี้ไม่ได้เป็นแบบก้าวกระโดดในมาบตาพุด"นายปจงวิช กล่าว
นายปจงวิช กล่าวว่า การลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า SPP ทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมจะใช้เงินลงทุนไม่สูงเหมืนอการสร้างใหม่ในลักษณะ greenfield เนื่องจากใช้อุปกรณ์เก่ามาเปลี่ยนเฉพาะอุปกรณ์หลัก เช่น เครื่องกังหันแก๊ส (Gas Turbine) ,หม้อไอน้ำ (Boiler) เป็นต้น นอกจากนี้การลดปริมาณขายไฟฟ้าทำให้จำเป็นต้องมีเครื่องกันหันไอน้ำ (Stream Turbine) ก็จะลดค่าใช้จ่ายลงอีก ซึ่งในส่วนนี้บริษทต้องพิจารณาปริมาณสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับลูกค้าอุตสาหกรรมประกอบด้วย คาดว่าปลายปีนี้จะสรุปแผนลงทุนทั้งหมด
ขณะที่การขายไฟฟ้าและไอน้ำให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ราว 90% เป็นกลุ่มปิโตรเคมีในพื้นที่มาบตาพุด และอีกราว 10% อยู่ในกลุ่มยานยนต์ มองว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าของลูกค้าอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดจะเติบโตน้อยกว่า 5% ต่อปี เนื่องจากมีข้อจำกัดดั้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้การเติบโตของลูกค้าอุตสาหกรรมของบริษัทในช่วงสั้นมีไม่มากนัก แต่หากรัฐบาลจะพัฒนาพื้นที่มาบตาพุดเฟส 3 ให้เกิดขึ้นจริง ก็เชื่อว่าจะเป็นโอกาสให้บริษัทเติบโตตามไปด้วย เพราะบริษัทนับว่าเป็นผู้มีศักยภาพในพื้นที่ดังกล่าว
อนึ่ง GLOW ซึ่งมีกลุ่ม ENGIE จากฝรั่งเศส เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 69.11% มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนร่วมทุน 2,891 เมกะวัตต์ และมีกำลังผลิตไอน้ำทั้งสิ้น 1,206 ตัน/ชั่วโมง แบ่งเป็นธุรกิจผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าเก็คโค่-วัน ,โกลว์ ไอพีพี และห้วยเหาะในลาว ส่วนที่เหลือเป็นธุรกิจโคเจนเนอเรชั่น คือ กลุ่มที่ขายไฟฟ้าให้ กฟผ.ในรูปแบบ SPP และ การขายไฟฟ้าและไอน้ำให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม
ปัจจุบัน GLOW มีรายได้จาก IPP ราว 40% และโคเจนเนอเรชั่น 60% ขณะสัดส่วนกำไรจาก IPP อยู่ที่ 45% และโคเจนเนอเรชั่น 55%
นายปจงวิช กล่าวว่า สำหรับนโยบายของกลุ่มบริษัทในระยะต่อไปนี้ ทาง ENGIE ซึ่งเป็นบริษัทแม่ประกาศการจะไม่พัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้วแต่จะมุ่งเน้นการพัฒนาโรงไฟฟ้าที่มีก๊าซคาร์บอนต่ำ โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงานทดแทนทั้งพลังงานแสงอาทิตย์, ชีวมวล พลังน้ำ ขณะที่โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหินที่มีอยู่ก็จะดำเนินการต่อไป แต่จะไม่สร้างเพิ่ม
หลังจากนี้ GLOW จะมุ่งเน้นใน 2 ด้าน ได้แก่ Profitable Growth ซึ่งเน้นการเติบโตของกำไร โฟกัสไปที่การสร้างโรงไฟฟ้า SPP ทดแทนของเดิมที่จะทยอยหมดอายุสัญญา, โรงไฟฟ้าที่มีก๊าซคาร์บอนต่ำ และ การผลิตไฟฟ้าที่มีระบบสะสมพลังงาน (Energy Storage) เพื่อรองรับการใช้งานเอง จากปัจจุบันที่ส่วนใหญ่เป็นการผลิตไฟฟ้าเพื่อขายเข้าระบบส่งไฟฟ้าของภาครัฐ โดยมองโอกาสการเข้าซื้อโรงไฟฟ้าขนาดเล็กในประเทศที่มองว่ามีอยู่หลายรายและอาจควบรวมกิจการกัน นอกจากนี้ยังมองเรื่องของ Operation Excellence ซึ่งเป็นการบริหารงานที่มีคุณภาพควบคู่กันไปด้วย
"ตลาดเมืองไทยมีผู้เล่นหลายคนมากถึงจุดจุดหนึ่งเราเชื่อว่าต้องมีการ consolidate กัน เราเชื่อว่ารายย่อย ๆ ไม่สามารถที่จะ optimize เดินเครื่องได้เหมือนบริษัทใหญ่ ก็น่าจะมีการขายออกมา และเราก็มีสิทธิจะเข้าไปซื้อกิจการตรงนี้ได้ เรามองหมด renewable ต่าง ๆ โอกาสที่จะโตทุกคนเป็นไปไม่ได้"นายปจงวิช กล่าว
นายปจงวิช กล่าวอีกว่า นอกเหนือจากสนใจเข้าซื้อกิจการแล้ว ยังสนใจที่จะทำโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะอุตสาหกรรมในพื้นที่ชลบุรี หรือระยอง โดยเตรียมเสนอขายไฟฟ้าเมื่อภาครัฐเปิดรับซื้อในเร็ว ๆ นี้, โครงการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลที่รัฐบาลจะเปิดรับซื้อทั่วประเทศในปีนี้ และโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของหน่วยงานราชการและสหกรณ์ฯที่รัฐบาลเตรียมที่จะเปิดรับซื้อระยะที่ 2 ภายปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า
นอกจากนี้ ยังสนใจโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารหรือโรงงาน (โซลาร์รูฟ) โดยอยู่ระหว่างการเจรจากับโรงงานเพื่อดำเนินการร่วมกัน เนื่องจากบริษัทความสามารถจัดหาแผงโซลาร์เซล์และผลิตไฟฟ้า ขณะที่ใช้พื้นที่ของโรงงานเป็นที่ติดตั้ง ทั้งเพื่อใช้ในโรงงานเองเพื่อลดต้นทุนซึ่งจะแบ่งผลกำไรกัน ซึ่งมองว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจโซลาร์รูฟหากในระยะต่อไปรัฐบาลเปิดเสรีให้ขายไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟในอนาคต
ส่วนการลงทุนในต่างประเทศ บริษัทได้รับมอบนโยบายจากบริษัทแม่กำหนดขอบข่ายการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าในเมียนมา ,ลาว ,กัมพูชา ,เวียดนาม และมาเลเซีย ซึ่งในพื้นที่เหล่านี้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าครอบคลุมถึง 100 กิกะวัตต์ และยังมีโอกาสของการเติบโตอีกมาก ก็เป็นโอกาสที่กลุ่มบริษัทจะเข้าไปขยายลงทุน โดยยังมองหาโอกาสลงทุนในลาวเพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มีอยู่แล้ว 1 โครงการ
ขณะที่ในเมียนมา มีโครงการที่อยู่ในมือที่ร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่นบ้างทั้งในส่วนของพลังน้ำ ก๊าซธรรมชาติ หรือพลังงานทดแทน แต่การลงทุนในเมียนมาคงต้องใช้เวลา เนื่องจากต้องนำเสนอโครงการไปยังรัฐบาลเพื่อลงนามบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น (MOU) ก่อนจะเปลี่ยนเป็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ทำให้คาดว่าในระยะสั้นถึงกลางอาจยังไม่เห็นการพัฒนาโครงการในเมียนมา
ขณะที่ในส่วนของเวียดนาม และมาเลเซีย ก็ยังมีทีมพัฒนาธุรกิจดูแลอยู่เช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่การพัฒนาโรงไฟฟ้าในต่างประเทศจะเป็นรูปแบบของ greenfield
"คิดว่าระยะสั้น 1-2 ปีการพัฒนาโครงการคงน้อย เพราะพวกนี้ต้องใช้ระยะเวลา คงจะเป็นหลัง 3 ปีไปแล้ว ช่วงนี้จะเน้นเตรียมตัว replace โรงที่จะหมดอายุปีหน้าก็มี หลังจากนั้นก็มีในปี ค.ศ.2021 และปี 2024 แต่การขยายใหม่ก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่ระยะสั้นคงมีโอกาสน้อยที่จะเห็น"นายปจงวิช กล่าว
นายปจงวิช กล่าวว่า การลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในประเทศใช้เงินไม่มากนัก ขณะที่การลงทุนขนาดใหญ่น่าจะมีขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายปี 61 ในการสร้างโรงไฟฟ้า SPP ทดแทนโรงเดิมในลักษณะทยอยลงทุน จึงเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาในการจัดหาแหล่งเงินลงทุน เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายภาษี,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ราว 2 หมื่นล้านบาท/ปี ประกอบกับมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำราว 0.9 เท่าทำให้ยังมีศักยภาพในการระดมทุนอีกมาก ดังนั้น หากในปีนี้ไม่มีการลงทุนจำนวนมากก็จะจ่ายปันผลปีนี้เท่ากับปีที่แล้วที่ 5.75 บาท/หุ้น
"ตามนโยบายของเราจ่ายปันผลไม่น้อยกว่า 50% ของ NNP แต่ในทางปฏิบัติเรามีการโตของ dividend 5% ทุกปี อันนี้พูดถึง ordinary dividend ถ้าปีไหนเราไม่มีการลงทุนเยอะเราก็มี special dividend จ่ายให้ ปี 2015 ที่จ่ายเมื่อเร็ว ๆ นี้ ordinary dividend ก็ keep ตัว 5% growth และมีเงินเหลือเราก็จ่าย on top ขึ้นไป บอร์ดเมื่อเดือนกุมภาฯก็ให้เราสื่อสารกับนักลงทุนว่าปี 2016 dividend ที่จะจ่ายปี 2017 เราบอกว่าถ้าเราไม่มี investment หรือ CAPEX ที่เยอะ แล้วถ้าเรายังสามารถกู้เงินได้ที่ดอกเบี้ยมีเหตุมีผล ถ้ามี criteria 2 อันนี้เราก็จะจ่ายปันผลที่ 5.75 บาทต่อหุ้น ซึ่งเราสื่อสารกับตลาดฯเรียบร้อยแล้ว...ถ้าไม่มีลงทุน ซึ่งที่ผ่านมาครึ่งปีแล้วก็ดูว่าโอกาสลงทุนอาจจะไม่มี แต่ก็ขึ้นอยู่กับครึ่งปีหลังมี position หรือไม่"นายปจงวิช กล่าว
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มกำไรสุทธิก่อนรวมกำไร/ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิ และรายได้/ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี (Normalized Net Profit :NNP) ในปีนี้จะถูกกระทบจากธุรกิจ IPP ที่จะมีรายได้จากค่าความพร้อมจ่าย (AP) ของโรงไฟฟ้าลดลงจากปีก่อน เป็นไปตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า อีกทั้งจะไม่มีกำไรจากรายการพิเศษเหมือนในปีก่อนที่มีราว 600 ล้านบาท ขณะที่การขายไฟฟ้าและไอน้ำให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมยังทรงตัว เช่นเดียวกับการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจากโครงการห้วยเหาะ ส่วนค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ที่ลดลงในปีนี้เชื่อว่าจะไม่กระทบมากนักเพราะเมื่อพิจารณาจากมาร์จิ้นที่ยังอยู่ในระดับที่ดีจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่ลดลงน่าจะเข้ามาชดเชยได้ อนึ่ง ในปีที่แล้ว GLOW มี NNP อยู่ที่ระดับ 9.8 พันล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 1/59 มี NNP ที่ 2.64 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากความพร้อมในการผลิตไฟฟ้าของหน่วยผลิตหลัก รวมถึงปริมาณความต้องการไฟฟ้าและไอน้ำของลูกค้ายังอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ในระดับสูง จากส่วนต่างของโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ดีขึ้นตามต้นทุนก๊าซฯที่ลดลง และต้นทุนซ่อมบำรุงลดลง