พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานกรรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดรฟม. เห็นชอบร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี(สุวินทวงศ์) ระยะทาง 21.2 กม. และเห็นชอบกรอบราคากลางค่าก่อสร้าง 79,777 ล้านบาท (มีค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด หรือ Provisional Sum 3,486 ล้านบาท) แบ่งเป็น 6 สัญญา ประกอบด้วย 1. งานก่อสร้างอุโมงค์ ราคากลาง 20,736 ล้านบาท 2. งานก่อสร้างอุโมงค์ ราคากลาง 21,605 ล้านบาท 3. งานก่อสร้างอุโมงค์ ราคากลาง 18,656 ล้านบาท 4. งานยกระดับ ราคากลาง 10,025 ล้านบาท 5. งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร ราคากลาง 4,965 ล้านบาท และ 6 งานระบบราง ราคากลาง 3,790 ล้านบาท
โดยในสัปดาห์หน้าจะประกาศร่างทีโออาร์ลงเวปไซด์ เพื่อรับฟังความคิดเห็น และเปิดขายเอกสารประกวดราคาในวันที่ 1 ก.ค.59 โดยให้เวลาในการจัดทำเอกสารยื่นประกวดราคา 90 วัน คาดว่าจะประกวดราคาแล้วเสร็จ ลงนามสัญญาและเริ่มการก่อสร้างได้ต้นปี 60
ส่วนรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทางประมาณ 34.5 กม. วงเงินลงทุน 53,490 ล้านบาท และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 29.1 กม. วงเงินลงทุน 51,810 ล้านบาท โดยเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว หรือ Monorail โดยให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP- Net Cost นั้น คณะกรรมการมาตรา 35 แห่งพ.ร.บ.ร่วมทุน 2556 อยู่ระหว่างพิจารณาคาดว่าจะเปิดประกวดราคาได้ในเดือนก.ค.
ประธานกรรมการ รฟม.กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจาณาผลการพิจารณาแนวทางการคัดเลือกผู้เดินรถรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแคและบางซื่อ-ท่าพระ โดยมีความเห็นสอดคล้องกับมติของ คณะกรรมการมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยเอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56) ที่มีนายภคพงษ์ ศิริกันทรมาศ รองผู้ว่าฯรฟม. (วิศวกรรมและก่อสร้าง) เป็นประธาน ที่ให้ใช้แนวทางการเจรจาตรงกับ บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ผู้เดินรถสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) เนื่องจากจะทำให้การเดินรถต่อเนื่องตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งประชาชนจะสะดวก ปลอดภัย และประหยัดงบประมาณ เนื่องจากสามารถใช้ศูนย์ควบคุมการเดินรถ (Center Control) ร่วม ไม่ต้องก่อสร้างใหม่ ,ต่อขยายระบบอาณัติสัญญาณของสายสีน้ำเงิน ไม่ต้องลงทุนซื้อระบบใหม่ และลดค่าบริหารจัดการ วงเงินหลายพันล้านบาทเมื่อเปรียบเทียบกับแนวทางการเปิดประมูล
โดยหลังจากนี้จะเสนอเรื่องไปกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอเพื่อเสนอคณะกรรมการ นโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) พิจารณาต่อไป ซึ่งคาดว่าคณะกรรมการ PPP จะประชุมปลายเดือนมิ.ย.นี้ หากเห็นชอบแนวทางการเจรจากับ BEM ทางรฟม.จะสามารถเริ่มขั้นตอนการเจรจาและคาดว่าจะได้ข้อยุติภายใน 2 เดือน เนื่องจากรฟม.มีฐานข้อมูลเบื้องต้นค่าลงทุนการติดตั้งระบบ ราคารถ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ไว้แล้ว ซึ่งเป็นตัวเลขที่เป็นกลาง สามารถใช้เจรจากับรายเดิมได้ ซึ่งเมื่อเจรจาได้ข้อยุติจะเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอครม.พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป แต่หากคณะกรรมการ PPP ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการเจรจาตรง จะต้องกลับเข้าสู่กระบวนประมูล
พล.อ.ยอดยุทธกล่าวว่า การก่อสร้างงานโยธาของสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายนั้น จะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 62 ดังนั้นควรจะต้องเร่งหาผู้เดินรถให้เริ่มดำเนินการได้สอดคล้องกับที่งานโยธาแล้วเสร็จเพื่อจะได้ไม่ต้องมีระยะเวลารอยต่อ เนื่องจากหลังลงนามสัญญาผู้เดินรถจะต้องใช้เวลาในการจัดหารถไฟฟ้าอีกประมาณ 36 เดือน เพื่อไม่ต้องเสียค่าบำรุงรักษา (Care of Work) ตัวโครงสร้างที่เสร็จก่อน นอกจากนี้การเร่งหาผู้เดินรถสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย เพื่อเปิดเดินรถรอยต่อ 1 สถานีช่วง เตาปูน-บางซื่อ เร็วที่สุด ซึ่งกรณีเป็น BEM จะทำได้สะดวก โดยใช้การขยายระบบอาณัติสัญญาณจากสถานีบางซื่อและใช้รถไฟฟ้าเดิมวิ่งทะลุจากบางซื่อต่อมาได้ ซึ่งวางแผนเปิดเดินรถ 1 สถานีได้ในวันที่ 5 ธ.ค.59
นอกจากนี้ บอร์ดได้อนุมัติงบประมาณรวม 147 ล้านบาทต่อปีสำหรับเป็นค่าบริการรถเสริม เพื่อรองรับการเดินทางช่วง 1 สถานี (เตาปูน-บางซื่อ) ตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค. 59 ซึ่งสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน จะเปิดให้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกกับประชาชน โดยเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับรถเมล์ ขสมก. จำนวน 15 คัน วงเงิน 75 ล้านบาทต่อปี ค่าใช้จ่ายของรถไฟ จำนวน 72 ล้านบาทต่อปี สำหรับวิ่งบริการวันละ 7 ชม. ระหว่าง 16.30น.-20.30 น.