นายแพทย์กำพล พลัสสินทร์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.โรงพยาบาลจุฬารัตน์(CHG) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทตั้งเป้าการเติบโตของรายได้รวมในปีนี้ไม่ต่ำกว่า 18% กำไรเติบโตไม่ต่ำกว่า 17% จากปีก่อน โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มปริมาณเตียงของโรงพยาบาลเดิมทำให้มี capacity ในการรองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น ซึ่งภายในสิ้นปีนี้คาดว่าจะเพิ่มเป็นกว่า 500 เตียงจากกว่า 400 เตียงในสิ้นปี 58 ช่วยแก้ไขเตียงผู้ป่วยเต็มที่เคยเกิดขึ้นในปีก่อน
นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถขยายการให้บริการอื่นเพิ่มเติมได้อีก เช่น เพิ่มชนิดบริการเป็นโรงพยาบาลหัวใจครบวงจร ตั้งแต่ศูนย์หัวใจ ผ่าตัดหัวใจ การดูแลรักษาการเต้นผิดปกติของหัวใจ และการรักษาภาวะกระตุ้นให้ร่างกายมีเลือดไปหล่อเลี้ยง ซึ่งการบริการส่วนนี้ก็จะเพิ่มรายได้ให้กับโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 รวมทั้งเตรียมเพิ่มศูนย์หัวใจอีก 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลชลเวช จ.ชลบุรี และโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 11 จ.ฉะเชิงเทรา
นายแพทย์กำพล กล่าวว่า ภายในสิ้นปี 59 บริษัทมีแผนเพิ่มจำนวนผู้ป่วยนอก (OPD) เป็น 2 ล้านคน/ปี จาก 1.8 ล้านคน/ปีในปัจจุบัน ซึ่งก็จะสนับสนุนการเติบโตแบบต่อเนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่บริษัทยังจะมีการเติบโตเกิดจากการไปซื้อกิจการหรือควบรวมกิจการ (M&A) กับโรงพยาบาลอื่น ซึ่งปีนี้มีเพิ่มอีก 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ระยองที่เพิ่งซื้อกิจการมาก็จะเริ่มรับรู้รายได้เข้ามา ซึ่งคนไข้ส่วนใหญ่มาจากการรับผู้ป่วยประกันสังคม ซึ่งบริษัทก็จะเข้าไปเสริมศักยภาพและขยายโรงพยาบาลที่ซื้อกิจการมา
"ปีนี้เศรษฐกิจของประเทศไม่ค่อยดี GDP ยังโตแค่ 2-3% CHG ไตรมาส 1/59 รายได้สามารถเติบโตได้ถึงกว่า 18% แล้ว และกำไรสุทธิโตถึง 17.6% ปีนี้ทั้งปีก็คาดว่ารายได้รวมจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 18% กำไรสุทธิก็โตทิศทางเดียวกับรายได้ และจะรักษาอัตรากำไรสุทธิที่ 15% โชคดีที่ไตรมาส 1 สามารถทำได้ถึงเป้าทั้งรายได้และกำไร และธุรกิจโรงพยาบาลเป็นซีซั่นจะโตมากสุดคือไตรมาส 3 และ 4 เพราะเป็นช่วงหน้าฝนช่วงไฮซีซั่นและเตียงที่เพิ่มขึ้น น่ายินดีที่เรายังโตต่อเนื่อง ถึงแม้ GDP จะโต 2-3% ก็ตาม"นายแพทย์กำพล กล่าว
อนึ่ง ปีที่แล้ว CHG มีกำไรสุทธิ 538.38 ล้านบาท และมีรายได้รวม 3.18 พันล้านบาท
นายแพทย์กำพล กล่าวอีกว่า รายได้จากผู้ป่วยใน (IPD) จะเติบโตสูงกว่า OPD ขณะที่รายได้จากโครงการภาครัฐก็จะฟื้นตัวขึ้น โดยปีนี้กลุ่มบริษัทได้รับโควตาผู้ป่วยประกันสังคม 4.5 แสนคน/ปี จากก่อนที่จะซื้อโรงพยาบาลจุฬารัตน์ระยองเข้ามาบริษัทมีโควตาผู้ป่วยประกันสังคม 4 แสนคน/ปี ขณะที่โรงพยาบาลจุฬารัตน์ระยองมีผู้ป่วยประกันสังคมราว 4 หมื่นคน/ปี ซึ่งก็จะทำให้รายได้กลุ่มโครงการรัฐโตขึ้นตามจำนวนผู้ประกันตนที่เพิ่มขึ้นและการรับผู้ป่วยโรคซับซ้อนที่ส่งต่อมาด้วย
ในอนาคตอันใกล้มีแผนจะขยายโรงพยาบาลเพิ่มอีก 1-2 แห่ง หากไม่สามารถซื้อกิจการหรือร่วมลงทุน (M&A) ได้ก็จะสร้างโรงพยาบาลใหม่แทนซึ่งปกติการก่อสร้างโรงพยาบาลใหม่จะใช้เวลาก่อสร้างอย่างน้อย 2 ปี
ปัจจุบัน บริษัทอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงพยาบาล 1 แห่ง คือโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 304 อินเตอร์ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ขนาด 100 เตียง มูลค่าลงทุน 500-600 ล้านบาท ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนกับกลุ่มนักธุรกิจท้องถิ่น โดย CHG ถือหุ้น 70% และกลุ่มนักธุรกิจดังกล่าวถือรวมกัน 30% โรงพยาบาลแห่งใหม่นี้รองรับผู้ป่วยต่างชาติด้วย และรับผู้ป่วยเฉพาะเงินสดและประกันชีวิตเท่านั้น ไม่รับประกันสังคม
ทั้งนี้ ปัจจุบันเริ่มให้บริการ OPD บ้างแล้ว และในไตรมาส 2 จะทยอยให้บริการ lPD ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามนิคมอุตสาหกรรม 304 โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการ IPD ครบทั้งหมดในสิ้นปี 60 โดยการเปิดให้บริการ IPD ครั้งนี้ก็จะนับเป็นโรงพยาบาลในเครือแห่งที่ 15 และมีจำนวนเตียงรวมทั้งเครือจะเพิ่มเป็นกว่า 600 เตียง "จุฬารัตน์ 304 อินเตอร์ เป็นเกรด A ของเรา เป็นอินเตอร์ฯรองรับผู้ป่วยต่างชาติด้วย ปัจจุบันมีผู้ป่วยกัมพูชา และอาหรับบ้าง และบริษัทที่มีสิทธิประกันฯ ทุกชนิด และรับผู้ป่วยเฉพาะเงินสด สิ่งที่จะเห็นในอนาคต ทิศทางการเติบโตจะโฟกัสฝั่งตะวันออก แถบภูเขา แถว ๆ ปราจีนบุรี สระแก้ว ปีนี้คงไม่ยังเห็นซื้อกิจการเพิ่มเพราะเท่าที่ดูยังไม่มีที่น่าสนใจ"นายแพทย์กำพล กล่าว
นายแพทย์กำพล กล่าวว่า สำหรับโรงพยาบาลชลเวชที่ซื้อกิจการมานั้น ความสามารถทำกำไรยังไม่มาก เพราะโครงการขยายยังไม่เสร็จเพราะบริษัทอยู่ระหว่างลงทุนสร้างอาคารใหม่รองรับผู้ป่วยเงินสดจำนวน 60 เตียง คาดเสร็จและเปิดได้ภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ บริษัทยังโฟกัสที่ภาคตะวันออกยังไม่มีแผนขยายไปภาคอื่น
ปัจจุบันสัดส่วนรายได้มาจากผู้ป่วยกลุ่มเงินสด 55% ผู้ป่วยโครงการสวัสดิการภาครัฐ 45% จากเดิมผู้ป่วยโครงการสวัสดิการภาครัฐ 55% ผู้ป่วยเงินสด 45%
สำหรับแนวโน้มรายได้ในไตรมาส 2/59 น่าจะต่ำกว่าไตรมาส 1/59 ที่รายได้รวม 890 ล้านบาท เพราะปกติไตรมาส 2 จะเป็นช่วงโลว์ซีซั่น ประกอบกับมีวันหยุดมากทำให้รายได้แต่ละสถานพยาบาลคงไม่ดีเท่าไตรมาสแรก อย่างไรก็ตามหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนก็น่าจะเติบโตขึ้น เพราะพื้นที่บริการเพิ่มขึ้น
ส่วนทั้งปีนี้คาดว่ารายได้จะทำสถิติสูงสุดใหม่จากพื้นที่บริการใหม่ของทุกโรงพยาบาลในเครือที่เพิ่มเข้ามา โดยเฉพาะโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 ที่รองรับผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้นจากการขยายพื้นที่ให้บริการเพิ่มจากสถานที่เดิมที่ดำเนินการอยู่ ขณะที่โรงพยาบาลดังกล่าวนับเป็นโรงพยาบาลที่ทำรายได้สูงสุดในกลุ่ม
ส่วนการปรับค่ารักษาพยาบาลนั้น โรงพยาบาลในเครือทั้งหมดยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงค่าบริการ โดยจะเปลี่ยนแปลงก็ต่อเมื่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GPD) ขยับขึ้น ขณะเดียวกันมีแผนจะทำคลินิคส่งต่อผู้ป่วย เพราะภาคตะวันออกมีอุตสาหกรรมจำนวนมาก ก็มีแผนเปิดบริการดังกล่าวแล้วส่งต่อบริการในภาคตะวันออก โดยจะหารือร่วมกับกับนิคมอุตสาหกรรมเพื่อสร้างคลินิคบริการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม
นายแพทย์กำพล กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ในปี 60 เติบโต 15-20% เหมือนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาที่รายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 15% ทุกปี เนื่องจากไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีสัดส่วนราว 10% ของประชากรทั่วประเทศ ขณะที่บริษัทจะมุ่งสู่บริการการรักษาโรคที่ยากขึ้นซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ซึ่งหากมีเครื่องมือที่ทันสมัย สามารถคัดกรองโรคมะเร็งได้เร็วขึ้นในราคาสมเหตุสมผล และสามารถรักษาผู้ป่วยให้หายด้วยความรวดเร็ว ก็จะนับเป็นโรงพยาบาลที่เป็นศูนย์รับส่งต่อทั้งจากภาครัฐและเอกชน
นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนออกไปนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) ให้กับนักลงทุนต่างประเทศต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังนี้ โดยที่ผ่านมาออกไปนำเสนอข้อมูลที่ฮ่องกง สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งก็มีกองทุนต่างประเทศสนใจขอซื้อหุ้น แต่ได้แจ้งว่าให้นักลงทุนเข้าไปซื้อในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะกลุ่มถือหุ้นใหญ่ที่หุ้นอยู่จำนวน 50-60% ยังไม่คิดจะขายหุ้นออกมา
ด้านฐานะการเงินบริษัทนับว่ามีภาระหนี้ต่ำมาก โดยปัจจุบันสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) เพียงเล็กน้อย และมีสถานะเงินสดสุทธิทุกปี ซึ่งฐานะการเงินที่แข็งแกร่งก็จะหนุนโอกาสการลงทุนและเข้าซื้อดีลใหม่ในอนาคตได้ง่ายขึ้น ท่ามกลางภาวะต้นทุนทางการเงินที่ต่ำมากในขณะนี้ก็ยังมีโอกาสที่จะกู้ได้อีกมาก
"การแข่งขัน เราแข่งขันกับตัวเองมากกว่า เปิดโรงพยาบาลมาต้องทำอย่างไรให้ประชาชนมีความรักในโรงพยาบาล มาตรฐานสูงราคาสบายกระเป๋า เราจะทำอย่างไรให้เป็นโรงพยาบาลทางเลือกให้กับประชาชน เพราะจะมีประชาชนส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถรอคิวโรงพยาบาลรัฐบาลได้ ถ้ามาที่โรงพยาบาลเรามีแพทย์เฉพาะทางก็เร็วขึ้น ประหยัดมากกว่าใช้โรงพยาบาลอื่น ขณะที่องค์กรที่มีประกันต่าง ๆ ถ้ามาที่เราก็มีแพทย์เฉพาะทางหลายโรค อย่าง การผ่าตัดต่อมือนิ้ว แก้ไขข้อปกติจะมีแพทย์ดัง ๆ ระบบเวิลด์คลาส"นายแพทย์กำพล กล่าว