นายรณกฤต สารินวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการสายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.คันทรี่ กรุ๊ป (CGS) กล่าวถึงการทำประชามิติถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) ว่า ผลกระทบตลาดหุ้นในสัปดาห์นี้ ให้ระวังความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เพราะค่าเงินดอลล่าร์จะแข็งค่าสวนทางค่าเงินยูโร ขณะที่อเมริกามีโอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวช้าลง หลังจากประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มองว่าภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ยังไม่เหมาะที่จะเร่งปรับอัตราดอกเบี้ย ดังน้นค่าเงินดอลล่าร์ที่แข็งจะส่งผลลบต่อการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐ
ตลาดหุ้นไทยจะผันผวน เนื่องจากสินค้าโภคภัณฑ์จะอ่อนตัวในระยะนี้ ประกอบกับหุ้นธนาคารมีแรงขายจากเรื่องของ'พร้อมเพย์"เพราะกังวลว่ารายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยจะลดลง และให้จับตาดูโพลของอังกฤษ หากฝ่ายสนับสนุนให้โหวตออกมีมากขึ้นเรื่อยๆ หุ้นจะตก แต่หากฝ่ายโหวตออกมีปริมาณน้อยลงหุ้นจะฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า 1,370 เป็นจุดที่รับอยู่ในรอบนี้
นายรนกฤต ระบุว่า สำหรับการทำ Brexit นั้น โพลล์ล่าสุดที่สำรวจจาก Bloomberg เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ปรากฏว่าตัวเลขยังไม่นิ่ง โดยตัวแปรสำคัญคือ กลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจที่มีสัดส่วนถึง 11.5% ซึ่งเพียงพอที่จะให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดชนะการโหวต
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายสนับสนุนให้อังกฤษออกจากอียูมองว่า อังกฤษเสียเปรียบมาโดยตลอด อาทิ เศรษฐกิจอังกฤษดีกว่า มีการเติบโตของ GDP สูงกว่า และมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก มีศักยภาพเพียงพอที่จะออกจากอียูได้ นอกจากนี้ จะสามารถควบคุมคนเข้าเมืองได้อย่างอิสระและสามารถจัดระเบียบผู้ขอลี้ภัย รวมทั้งจะเป็นอิสระจากข้อกำกับและกฎเกณฑ์วุ่นวายของอียู ซึ่งฝ่ายสนับสนุนให้ออกมองว่าต้นทุนในการออกไม่น่าจะมาก ซึ่งเงินที่ต้องจ่ายให้อียูเกือบ 1 ล้านล้านบาท/ปี ก็สามารถเอามาพัฒนาประเทศได้
ขณะที่ฝ่ายที่สนับสนุนให้เป็นสมาชิกอยู่ในอียูต่อไป มองว่าจะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจสูงและอาจฉุดให้เศรษฐกิจอังกฤษชะลอตัว โดยมองว่าต้นทุนเศรษฐกิจในการออกจากอียูจะสูงมาก โดยผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น คือ ผลต่อเศรษฐกิจต่อทั้งอังกฤษและกลุ่มประเทศยูโรโซน ที่มีสัดส่วนการค้าค่อนข้างสูงถึง 54% และส่วนใหญ่ไม่มีกำแพงภาษีระหว่างกัน ดังนั้นจะส่งผลให้ต้องมีรายการภาษีนำเข้าระหว่างประเทศกันเกิดขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีความไม่แน่นอนว่าอังกฤษจะสามารถคงสภาพการเป็นตลาดเดียวกันต่อไปได้หรือไม่ อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนต่อข้อตกลงทางการค้าที่อังกฤษทำกับประเทศอื่นๆ ในฐานะสมาชิกของอียู เช่น เกาหลีใต้ และ สวิตเซอร์แลนด์ อีกทั้ง บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ทั้ง Fitch Ratings และ Moody’s ต่างก็ออกมาให้ความเห็นว่า จะลดระดับความน่าเชื่อถือของอังกฤษ
ด้านผลกระทบต่อตลาดเงิน จะเพิ่มความผันผวนต่อตลาดเงินในระยะสั้น ซึ่งปัจจุบันการอ่อนตัวเพิ่มขึ้นของทั้งปอนด์และยูโร แสดงให้เห็นถึงความกังวลของตลาดต่อผลเสียที่จะคาดว่าจะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายหากเกิด Brexit และผลกระทบต่อตลาดแรงงาน การเปลี่ยนแปลงด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีระหว่างประเทศจะทำให้บริษัทข้ามชาติพิจารณา ย้ายสำนักงานใหญ่ออกจากกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเงินของยุโรป จะเห็นได้ว่า ปัจจัยต่างๆเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจของทั้งอังกฤษ และกลุ่มยูโรโซนเข้าสู่ภาวะ ถดถอยได้
สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทยน่าจะมีไม่มาก เนื่องจากไทยมีมูลค่าการส่งออกไปอังกฤษ อยู่เพียงประมาณ 2% ของการส่งออกทั้งหมด แต่ถึงกระนั้น หากเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มยูโรโซนเกิดภาวะถดถอย ภาคส่งออกของไทยก็ต้องได้รับผลกระทบตามมาเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่อังกฤษยังคงสภาพเป็นสมาชิก EU (No exit) นักวิเคราะห์ นักการเมือง และผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่าย ส่วนใหญ่ มองว่าจะเป็นผลดีมากกว่าผลเสียต่อเศรษฐกิจของทั้งอังกฤษและกลุ่มประเทศยูโรโซน
ทั้งนี้ เศรษฐกิจอังกฤษ (UK Economy) มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งหากเทียบในกลุ่มสหภาพยุโรป มีขนาดเป็นอันดับสองรองจาก เศรษฐกิจเยอรมัน และเป็นอันดับ 5 ของโลก มีจุดแข็งที่ภาคบริการ คิดเป็นสัดส่วน 73% ของ GDP โดย ลอนดอนเป็นศูนย์กลางการเงินโลกเทียบได้กับนิวยอร์ก และ ลอนดอนยังเป็นเมืองที่มี GDPสูงสุดในยุโรป
ข้อมูลสำคัญๆทางเศรษฐกิจเช่น อัตราการว่างงานปรับตัวลงต่อเนื่อง ปัจจุบันตัวเลข อัตราการว่างงานมาที่บริเวณ 5.0% ทางด้านเงินเฟ้อปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยหลังจากราคาน้ำมันทำระดับต่ำสุดในช่วงเดือน ม.ค.59 แรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจของอังกฤษมาจากภาคบริการที่ขยาย ตัวอย่างแข็งแกร่งทว่าเศรษฐกิจด้านการผลิตและภาคก่อสร้างยังคงชะลอตัว โดยในปี 58 หลังจากไตรมาสแรกผ่านพันไป การฟื้นตัวของเศรษฐกิจค่อยๆฟื้นตัวได้ก่อนชะลอตัวอีกครั้งในไตรมาส 3/58 ตามเศรษฐกิจโลกและสามารถฟื้นขึ้นเล็กน้อยในไตรมาส 4 เนื่องจากต้นทุนการผลิตภาคการผลิตชะลอตัว
อนึ่ง ในปี 59 IMF คาดการณ์เศรษฐกิจของอังกฤษมีการเติบโตระดับ 1.8-1.9% และเติบโตลดลงจากปี 58 ที่ขยายตัว 2.3%โดยปัจจัยเสี่ยงระยะสั้นคือ Brexit risk