KTBST ให้กรอบ SET สัปดาห์นี้ 1,380-1,463 จุด ยังผันผวนจากแรงกดดัน BRExit

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 20, 2016 09:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ กลยุทธ์การลงทุน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) (KTBST) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นทั้งสัปดาห์นี้จะถูกชี้นำด้วยเรื่องของการลงประชามติของประชาชนของสหราชอาณาจักรในเรื่องที่จะออกจาก EU หรือ BRExit ทั้งก่อนและหลังการลงประชามติ โดยเฉพาะวันศุกร์ ซึ่งจะเป็นวันที่ทราบผลอย่างเป็นทางการ

ดังนั้นดัชนีฯสัปดาห์นี้ จะมีความผันผวนค่อนข้างมาก จากโพลสำรวจที่ออกมาในแต่ละวัน แม้ในเวลานี้ฝั่งที่ต้องกการออก (Exit) จะสูงกว่าฝั่งที่ต้องการอยู่ (Remain) แต่ผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจก็สูงเช่นกันผลประชามติจึงออกมาได้ทั้งสองทาง จึงมองกรอบดัชนีฯในสัปดาห์นี้อยู่ที่ 1,380-1,463 จุด ดัชนีแกว่งตัว +/-3%

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนแนะนำว่า ตลาดที่มีโอกาสขึ้นหรือลงได้มากพอๆกัน จะเหมาะกับผู้ที่ยอมรับความเสี่ยงสูงได้และปรับตัวได้เร็ว (ซื้อเร็ว ขายเร็ว) แต่สำหรับนักลงทุนทั่วๆไป ที่ไม่ต้องการความเสี่ยง ควรลดพอร์ตลง โดยเฉพาะส่วนที่เป็นหุ้นที่อิงกับทิศทางตลาด (หุ้นใหญ่-หุ้นราคาขึ้นมามาก-หุ้น P/E สูง) และควรพร้อมกลับเข้าตลาด หากผลการลงประชามติ หรือมีตัวชี้ที่ค่อนข้างแน่นอนว่า สหราชอาณาจักร ยังอยู่ในอียูต่อไป (Remain)

ส่วนหุ้นที่น่าสนใจสำหรับนักเก็งกำไรหรือผู้อยากเสี่ยงกับเรื่อง BRExit เพราะเชื่อว่าสหราชอาณาจักรจะอยู่ในอียูต่อไป เรามองหุ้นที่ราคาปรับตัวลงมามากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเป็นหุ้นที่คนนิยมเล่นกันและเป็นหุ้นที่มีอนาคตดี ได้แก่ PTTEP ที่ปรับตัวตามราคาน้ำมันที่เป็นขาขึ้น,BLA แนวโน้มมีทิศทางที่ราคาจะเป็นขาขึ้น,BBL ราคาปรับตัวลงมามาก รวมถึงหุ้น JWD และ PLANB ที่ราคามีการปรับตัวลงมามากและน่าสนใจ

ทั้งนี้ ประเมินว่าหากสหราชอาณาออกจากอียูผลที่จะเกิดขึ้นกับตลาดเงินตลาดทุนจะเป็นไปดังนี้ คือ 1.จะเกิดความปั่นป่วนขึ้นในตลาดสินทรัพย์ทางการเงินเพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ได้เตรียมรับกับผลในแบบนี้ โดยนักลงทุนจะเข้าซื้อสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ อย่างพันธบัตรรัฐบาล,ทองคำ,เงินสกุลปลอดภัย เช่น ดอลล่าร์ และขายสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงปานกลาง-สูง อย่างสินค้าโภคภัณฑ์,หุ้น ตลาดอาจเวลาหลายวันกว่าจะสงบนิ่งลง จนบรรดาธนาคารกลางประเทศต่างๆ จะเป็นผู้เข้ามาจัดการในเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ตาม การที่อังกฤษออกจากอียู ไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายต่อเศรษฐกิจโลกมากนัก

2.อาจเกิดวิกฤตการณ์ ถ้าการเทขายสินทรัพย์ทางการเงินเกิดขึ้นไม่หยุด จะมีผลกระทบต่อความมั่งคั่งและกระทบต่อเศรษฐกิจจะกระทบอย่างรุนแรง เหมือนคลื่นลูกที่สอง ซึ่งเราคาดว่ามีโอกาสเกิดค่อนข้างยากน่าจะจบแค่ขั้นแรก

และ 3.สหราชอาณายังอยู่กับอียูต่อไปก็เป็นเรื่องบวกของตลาด ราคาสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆ ถูกขายมาก่อนหน้านี้ ตลาดหุ้นจะเป็นบวก เงินที่ล้นโลกที่พักอยู่ในสินทรัพย์ที่เสี่ยงต่ำ จะทยอยกลับเข้ามา ในตลาดหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ