นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ถึงแนวทางการกำกับดูแลและการบริหารงานกิจการอวกาศ หลังผลการศึกษาของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสนอทางออกไว้ 2 แนวทาง คือให้ดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 กลับมาอยู่ภายใต้เงื่อนสัมปทานเดิมที่ต้องจ่ายค่าสัมปทานให้รัฐ 20.5% ของรายได้จนกว่าจะหมดอายุสัมปทานในปี 64 เช่นเดียวกับดาวเทียมไทยคม 4 ,5 และ 6 ที่ยังอยู่ในระบบสัมปทาน
ส่วนอีกแนวทางหนึ่งให้กำหนดเงื่อนไขใหม่โดยทำสัญญาใหม่เป็น Deep of Agreement ซึ่งจะกำหนดเงื่อนไขให้จ่ายธรรมเนียมเพิ่มมากขึ้น และให้ภาครัฐได้ใช้บริการดาวเทียมเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ตามกฎหมายกิจการดาวเทียมจะดำเนินการได้นั้นต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ก่อน ซึ่งรมว.ไอซีที ก็จะเชิญผู้บริหารของบมจ.ไทยคม (THCOM) มาหารือในเรื่องการปรับเปลี่ยนดังกล่าว โดยในส่วนของการทำสัญญาใหม่จะมีการกำหนดรายละเอียดค่าธรรมเนียมที่กำหนดไว้ใน Deep of Agreement โดยค่าธรรมเนียมใหม่จะต้องไม่น้อยกว่าอัตราเดิมที่ 20.5% หรือกำหนดเป็นเงื่อนไขให้หน่วยงานภาครัฐใช้บริการดาวเทียมไทยคมโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
ขณะที่สัญญา Deep of Agreement จะใช้เป็นมาตรฐานสำหรับดาวเทียมไทยคม 7 , 8 และดาวเทียมที่จะยิงขึ้นไปให้บริการในอนาคตทั้งหมด
นายฐากร กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้หารือถึงแนวทางที่จะกำหนดเรื่องดังกล่าวไว้ในร่างพ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ฉบับใหม่เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นด้วย
อนึ่ง ปัจจุบันดาวเทียมไทยคมมีการดำเนินการใน 2 ระบบ ได้แก่ ระบบสัมปทาน และระบบใบอนุญาตที่ออกโดยกสทช. ซึ่งกสทช.ได้ค่าใบธรรมเนียมใบอนุญาต และค่าธรรมเนียมเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (USO) ในอัตรา 5.75% ของรายได้ต่อปี โดยแบ่งเป็นค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 2% และค่าธรรมเนียม USO ในอัตรา3.75%
ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีพ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 2553 (พ.ร.บ.กสทช.) ดาวเทียมอยู่ในระบบสัญญาสัมปทาน มีอายุสัมปทาน 30 ปี คือตั้งแต่ ปี 34-64 ซึ่งกระทรวงไอซีทีมีหน้าที่ในการเก็บค่าสัมปทานในอัตรา 20.5% ต่อปี และเป็นผู้จองวงโคจรให้ตั้งแต่ต้น แต่เมื่อมีพ.ร.บ.กสทช.ออกมาบังคับใช้ และกำหนดให้ผู้ประกอบการดาวเทียมจ่ายเป็นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตแทนในอัตรา 2% ต่อปี และจ่ายเข้า USO อัตรา 3.75% ต่อปี จึงทำให้รัฐบาลได้รายได้จากกิจการดาวเทียมน้อยลง