นายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้การก่อสร้าง โครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ที่บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)ได้รับสัมปทานการก่อสร้างและบริหารในรูปแบบ BTO (Build-Transfer-Operate) มีความคืบหน้ากว่า 98% โดยจะเปิดให้บริการในเดือนสิงหาคม 2559 ซึ่งเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ในปลายปี 2559 เมื่อเปิดให้บริการแล้วจะช่วยขยายศักยภาพด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ และช่วยบรรเทาปัญหาจราจรติดขัดที่ประชาชนฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ กำลังประสบปัญหาอยู่ในปัจจุบัน
ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ เป็นโครงการต่อขยายโครงข่ายทางพิเศษไปยังฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ มีระยะทางรวม 16.7 กม. เริ่มต้นจากถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก บริเวณใกล้โรงกรองน้ำมหาสวัสดิ์) ตามแนวเขตทางรถไฟสายใต้เดิม และข้ามแม่เจ้าพระยาบริเวณสะพานพระราม 6 สิ้นสุดโครงการบริเวณย่านบางซื่อ เชื่อมต่อทางพิเศษศรีรัช บริเวณด้านเหนือของสถานีขนส่งหมอชิต 2 และลงสู่ระดับดินที่บริเวณถนนกำแพงเพชร 2
ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ เป็นแบบเหมาจ่าย โดยกำหนดอัตราค่าผ่านทางสำหรับรถแต่ละประเภท ประกอบด้วย รถยนต์ 4 ล้อ อัตรา 50 บาท / รถยนต์ 6-10 ล้อ อัตรา 80 บาท และ รถยนต์มากกว่า 10 ล้อ อัตรา 115 บาท
"น่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณวันที่ 20 กว่า สิงหาคมนี้ ก่อนเปิด อาจจะเปิดทดลองวิ่งประมาณ 5-7 วัน และจะมีการจัดกิจกรรม โดยจะเชิญชวนปั่นจักรยานบนทางด่วน" ผู้ว่าการ กทพ.กล่าว
นางพเยาว์ มริตตนะพร กรรมการผู้จัดการ BEM กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ เป็นการขยายความเจริญ และอำนวยความสะดวกด้านการจราจรไปสู่ฝั่งตะวันตก ซึ่งจะทำให้การจราจรคล่องตัวมากขึ้น โดยคาดการณ์ปริมาณจราจรในปีแรกที่เปิดให้บริการเฉลี่ยประมาณ 97,000 - 100,000เที่ยวต่อวัน
"รายได้ค่าผ่านทางจากทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯเราได้ 100% เพราะเป็นสัมปทาน เอกชนลงทุนและบริหารจัดการเองทั้งหมด... เราคาดว่าปริมาณจราจรน่าจะเกิน 150,000 เที่ยวต่อวันในปีที่ 5 " กรรมการผู้จัดการ BEM กล่าว
อย่างไรก็ตาม ตามสัญญาที่กำหนด หากอัตราผลตอบแทนการลงทุน(IRR) เพิ่มขึ้นเป็น 13.5% หรือมีปริมาณจราจรที่ 150,000 เที่ยวต่อวันจะส่งส่วนแบ่งรายได้ให้กทพ. 30% ของส่วนที่เกินหลังมี IRR 13.5% และหากมี IRR เพิ่มขึ้นเป็น 15% บริษัทจะจ่ายส่วนแบ่งรายได้ 50% ของส่วนที่เกินหลังมี IRR 15%
การเปิดให้บริการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ ได้เร็วกว่าแผนที่กำหนด ถือว่าเป็นความสำเร็จของทั้งภาครัฐ และเอกชน ซึ่งมีความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะแก้ไขปัญหาจราจร โดยบริษัทได้ว่าจ้าง บมจ.ช.การช่าง (CK) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการก่อสร้างโครงสร้างระบบคมนาคมขนส่งขนาดใหญ่ดำเนินการก่อสร้างโครงการฯนี้ จึงทำให้การก่อสร้างโครงการฯ มีความก้าวหน้าเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ในสัญญา ทั้งนี้ เทคโนโลยีการก่อสร้างที่นำมาใช้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดทั้งต่อปัญหาการจราจรพื้นล่างและปัญหาสิ่งแวดล้อม
และขณะนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเก็บรายละเอียดงานโยธา งานติดตั้งระบบควบคุมทางพิเศษ ระบบไฟฟ้า รวมทั้งจัดอบรมบุคลากรให้มีความพร้อมสำหรับการเปิดบริการในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อส่งมอบให้แก่ผู้ใช้บริการทางพิเศษ
นางพเยาว์คาดว่า รายได้จากค่าผ่านทางในปีนี้จะเติบโต 2% ตามปริมาณจราจรที่คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 2% โดยปัจจุบันมีปริมาณจราจรเฉลี่ยที่ 1.17 ล้านเที่ยว โดยคิดปริมาณจราจรในส่วนที่ BEM เก็บรายได้ จากทั้งหมดที่มีปริมาณจราจรบนทางด่วน 1.8 ล้านเที่ยว ได้แก่ ทางด่วนที่ 1 , ทางด่วนที่ 2 และ ทางด่วนอุดรรัถยา