นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า แนวโน้มการขยายตัวของสินเชื่อในไตรมาส 2/59 คาดว่าจะขยายตัวสูงขึ้นมากกว่าไตรมาส 1/59 ที่เติบโต 0.5% โดยเป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่อบ้านที่ได้รับปัจจัยหนุนจากมาตรการลดหย่อยค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนองของรัฐ ซึ่งในเดือนเม.ย.เป็นเดือนสุดท้ายของมาตรการ ทำให้มีการขอสินเชื่อบ้านเพื่อให้ทันกับมาตรการดังกล่าวเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้สินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อรายใหญ่ก็ยังเติบโตอยู่ โดยเฉพาะสินเชื่อรายใหญ่ที่มีความต้องการใช้สินเชื่อจากดีลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ธนาคารยังคงเป้าหมายสินเชื่อรวมปีนี้เติบโต 6-7% จากปีก่อน
ด้านรายได้ในไตรมาส 2/59 ธนาคารคาดว่ายังเติบโตขึ้นจากไตรมาส 1/59 โดยส่วนหนึ่งมาจากรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยที่ยังการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีอัตราที่ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ ทำให้การจับจ่ายใช้สอยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และการทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ลดลงตาม โดยรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยคิดเป็นสัดส่วน 40% และรายได้จากดอกเบี้ยคิดเป็นสัดส่วน 60%
“ตอนนี้ธนาคารยังไม่มีแผนที่จะปรับเป้า แต่ก็ยอมรับว่าปีนี้การทำธุรกิจของธนาคารค่อนข้างเหนื่อย เพราะภาวะเศรษฐกิจก็ยังไม่ค่อยดีนักทั้งเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจต่างประเทศ เราก็จะพยายามทำให้ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ แต่ต้องดูครึ่งปีหลังอีกที เพราะหลังจากหมดมาตรการเรื่องการโอนบ้านจบไป สินเชื่อบ้านที่เคยหนุนอาจจะหดตัวไปบ้าง แต่ครึ่งปีหลังสินเชื่อรายใหญ่ก็น่าจะเป็นตัวหนุนที่ชดเชยเข้ามา เพราะธนาคารมองว่ายังมีดีลใหญ่ที่จะต้องใช้สินเชื่ออยู่มากพอสมควร"นางสาวขัตติยา กล่าว
ด้านสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในไตรมาส 2/59 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/59 ที่ 2.8% เล็กน้อย ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นแบบชะลอตัว และแนวโน้มมีการเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ไตรมาสที่เหลือของปีนี้ โดยธนาคารยังคงเป้าหมายคุม NPL ให้อยู่ในระดับ 3.5-3.6% ในสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ตามการตั้งสำรองพิเศษของธนาคารในไตรมาส 2/59 คาดว่าจะลดลงจากไตรมาส 1/59 ที่ตั้งสำรองพิเศษไปราว 2.4 พันล้านบาท เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาธนาคารได้นำกำไรมาตั้งสำรองไว้ค่อนข้างมากแล้ว และรองรับกับ NPL ของธนาคารได้อย่างดี ซึ่งในไตรมาส 1/59 อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ของธนาคารอยู่ในระดับสูงถึง 130% ซึ่งถือว่าเพียงพอกับระดับ NPL ในปัจจุบันของธนาคาร