นักวิเคราะห์ประเมินดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลง ขณะที่ผลการลงประชามติของสหราชอาณาจักรเกี่ยวกับการถอนตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) เลือกที่จะออกจากสหภาพยุโรป (อียู) เนื่องจากนักลงทุนจะกลับมาให้ความสนใจต่อสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย และอาจจะมีแรงขายสินค้าโภคภัณฑ์ออกมา และจากกรณีดังกล่าวอาจจะทำให้เศษฐกิจของอังกฤษอ่อนแอลง กระทบต่อค่าเงินปอนด์ หรือยูโรที่จะอ่อนค่า แต่น่าจะมีผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจ และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหุ้นไทยจำกัด อีกทั้งน่าจะยังเป็นปัจจัยบวกต่อหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคในประเทศ (Domestic Play) ตามแรงซื้อที่กลับเข้ามา
น.ส.ธีรดา ชาญยิ่งยงค์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า ดัชนีหุ้นไทยเช้านี้ดิ่งลงตามผลคะแนนที่แสดงให้เห็นว่าอังกฤษต้องการจะออกจากอียู ซึ่งทำให้มีแรงขายสินทรัพย์เสี่ยง รวมถึงตลาดหุ้นด้วย พร้อมให้จุด Cut loss ไว้ที่ 1,395 จุด ซึ่งจะเป็นแนวรับด้วย หากหลุดจะมีแนวรับถัดไปที่ 1,360 จุด ส่วนแนวต้านให้ไว้ที่ 1,410 จุด
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวขึ้นไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ด้วย ทำให้ถือว่าตลาดฯไม่ถูก เมื่อมีปัจจัยลบเข้ามาก็มีการทยอยขายออกมาก่อน ภาพที่เป็น Negative ทำให้ตลาดฯซึมตัวลงก่อน
อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังสามารถลงทุนหุ้นจำพวก Domestic Play ได้ เพราะยังได้แรงหนุนจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐบาล พร้อมระบุนักลงทุนที่ถือเงินสดรอเลือกหุ้นซื้อได้เลยในช่วงที่ตลาดฯปรับตัวลงหนักเช่นนี้
ด้านนายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.เคที ซีมิโก้ กล่าวว่า ผลประชามติที่ออกมาอังกฤษต้องการจะออกจากการเป็นสมาชิกในอียู ซึ่งจะต้องใช้เวลา 2 ปีถึงจะออกจริง ดังนั้น ผลกระทบในระยะ 1-2 ปีคงจะยังไม่เห็น แต่จะเห็นจริงหลังจาก 2 ปีไปแล้ว สิ่งที่อังกฤษจะได้รับผลกระทบเป็นเรื่องของสิทธิพิเศษต่าง ๆ จะหายไป การค้าของอังกฤษคงจะแย่ลง เป็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอังกฤษ นอกจากนี้ศูนย์การทางการเงินหลาย ๆ อย่าง อาจจะต้องย้ายออกจากอังกฤษ เพราะต่อไปการเข้า หรือออกกลุ่มประเทศในอียู คงจะต้องทำการขออนุญาตก่อน
ส่วนในระยะสั้นภาพเป็น Negative สิ่งที่จะได้เห็นเป็นเรื่องของ Currency Market ซึ่งอาจส่งผลในระยะ 1-3 วันหรืออาจเป็นสัปดาห์ แต่เชื่อว่าผลกระทบคงจะไม่มาก เพราะได้มีการเตรียมความพร้อมไว้อยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ระยะสั้นจะได้เห็นเงินปอนด์อ่อนค่าลง อันเป็นผลจากเศรษฐกิจของอังกฤษที่จะแย่ลง แม้แต่เงินยูโรก็จะอ่อนค่าลงเช่นกัน เพราะนักลงทุนจะมุ่งเข้าหาสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรของสหรัฐฯ และเงินเยน ซึ่งคงจะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯและเงินเยนแข็งค่าขึ้น
นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า คงจะเป็น Negative Surprise ซึ่งพวกสินค้าโภคภัณฑ์จะถูกขายเพื่อลดความเสี่ยงออกมา แต่เชื่อว่าแม้ตลาดฯจะมีการปรับฐาน แต่ดัชนีฯก็ยังจะสามารถยืนเหนือระดับ 1,400 จุดได้ ส่วนหุ้นที่จะเป็นบวกจะอยู่ในกลุ่ม Domestic Plays อย่างหุ้นในกลุ่มแบงก์, หุ้น KAMART, KKP เป็นต้น
ด้านนายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.กสิกรไทย กล่าวว่า กรณีนี้เป็น Negative Surprise ซึ่งทำให้ตลาดฯน่าจะปรับตัวลงมาก อย่างไรก็ดีตลาดฯยังสามารถที่จะเล่นเทรดดิ้งได้ เพราะเรื่องของอังกฤษไม่ได้ทำให้ตลาดหุ้นไทยแย่ โดยยังคงแนะนำเล่นหุ้นจำพวก Domestic Playเป็นหลัก
บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์โดยมองว่า ประเด็น Brexit มีผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจ และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนตลาดหุ้นไทยจำกัดมาก โดยให้น้ำหนักกับกลุ่มธนาคาร , ค้าปลีก , ปิโตรเคมี , รับเหมาก่อสร้าง , วัสดุก่อสร้าง เพราะแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/59 จะเติบโตเด่นในรอบนี้
ขณะที่บล.เอเซีย พลัส ระบุว่าการที่อังกฤษเลือกที่จะออกจากอียู จะทำให้ SET Index น่าจะมีโอกาสปรับลดลง โดยหุ้นที่มี Market Cap ขนาดใหญ่น่าจะมีแรงขายออกมา โดยเฉพาะหุ้นที่มี Beta สูง แต่ Upside เหลือน้อย ได้แก่ JAS, SCB, BAY, STEC, BLA, VGI, THAI และตรงกันข้ามให้สลับมาสะสมหุ้นที่มีความ P/E ต่ำ ผันผวนน้อย และยังมี Upside
อนึ่ง ปิดตลาดเช้า SET อยู่ที่ 1,396.81 จุด ลดลง 39.59 จุด (-2.76%)