ราคาหุ้น THAI ปิดตลาดปรับขึ้นไป 7.89% หรือบวก 1.80 บาท มาที่ 24.60 บาท มูลค่าซื้อขาย 3,402.07 ล้านบาท โดยเปิดตลาดที่ 22.50 ราคาสูงสุดที่ 24.80 บาท ซึ่งนับเป็นราคาสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี ระหว่างวันราคาหุ้นทำระดับต่ำสุด 22.50 บาท
ส่วนราคาหุ้น BJC ปิดปรับตัวขึ้น 6.21% หรือบวก 2.50 บาท มาที่ 42.75 บาท มูลค่าซื้อขาย 1,170.66 ล้านบาท โดยเปิดตลาดที่ 39.25 บาท ราคาสูงสุดที่ 43.00 บาท นับเป็นราคาสูงสุดในรอบประมาณ 1 ปี 7 เดือน ระหว่างวันราคาหุ้นทำระดับต่ำสุด 39.00 บาท ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยปิดลบ 1.62%
บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ว่าผลการลงประชามติของอังกฤษที่ให้ออกจากการเป็นสมาชิกสภาพยุโรป (อียู) เป็น Negative Surprise ต่อตลาดหุ้นไทย เบื้องต้นประเมินผู้ประกอบการกลุ่มส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่มีรายได้จากกลุ่มลูกค้ายุโรปจะมีผลกระทบเชิงลบมากสุด ส่วนผู้ประกอบการที่จะได้รับผลเชิงบวก ได้แก่ ผู้ประกอบการที่มีหนี้สินเป็นสกุลยูโรมากสุด คือ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) ที่มีหนี้สินสกุลยูโร 3,200 ล้านยูโร และบมจ.การบินไทย (THAI) มีหนี้สินสกุลยูโร 2,000 ล้านยูโร
บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุว่าการที่อังกฤษลงมติออกจากอียู ทำให้มีโอกาสที่ยูโรจะอ่อน และบาทแข็ง ก็จะทำให้เกิดกำไรอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่ง THAI นับได้ว่ามีผลกระทบและความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมากทีเดียว เพราะมีรายได้และค่าใช้จ่ายเป็นสกุลเงินต่างประเทศ รวมทั้งมีหนี้เงินกู้เป็นสกุลเงินต่างประเทศด้วย ดังนั้น ในสถานการณ์ที่อังกฤษจะออกจากอียูก็จะมีผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน และมีผลกระทบกับ THAI เช่นกัน
ในแง่ของการดำเนินงาน พบว่าบริษัทมีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้เป็นอย่างดี โดยใช้วิธีป้องกันความเสี่ยงทางธรรมชาติ (natural hedging) เพราะบริษัทมีรายได้สกุลเงินต่างประเทศกว่า 50 สกุลเงิน คิดเป็น 63% ของรายได้รวม และพยายามให้รายจ่ายมีสกุลเงินใกล้เคียงกับรายได้ แต่คาดว่ารายการที่มีความผันผวนคือ เงินกู้สกุลต่างประเทศ โดยเฉพาะเงินกู้ระยะยาว ส่วนใหญ่นำมาใช้ซื้อเครื่องบิน จากข้อมูลพบว่า ณ 31 ธ.ค.58 บริษัทมีสัดส่วนเงินกู้ต่างประเทศระยะยาวคือ ยูโร 44% ,บาท 35% ,เยน 13% และดอลลาร์สหรัฐ 8% ดังนั้น รายการกำไรหรือขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนของ THAI ส่วนใหญ่ก็จะมาจากรายการนี้ ซึ่งค่าเงินยูโรจะมีอิทธิพลมากที่สุด