นายมณฑล จุนชยะ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.วรรณ เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกในสัปดาห์นี้ มีโอกาสปรับตัวผันผวนต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนจากการขายสินทรัพย์เสี่ยงบางส่วนของนักลงทุนและเข้าสู่ภาวะ "Risk-Off Mode" เนื่องจากผลกระทบของความกังวลเรื่อง Brexit หลังผลประชามติได้ข้อสรุปเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าอังกฤษมีมติถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) และแรงกดดันจากหุ้นกลุ่มพลังงานจากราคาน้ำมันดิบที่มีโอกาสปรับตัวลดลงจากค่าเงินดอลลาร์ฯ ที่แข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ดี คาดว่าตลาดหุ้นน่าจะมีโอกาสฟื้นตัวในบางจังหวะ (Technical Rebound) ของตลาดหุ้น โดยเฉพาะในตลาดหุ้นที่มีการปรับตัวลดลงแรงและเร็วในช่วงที่ผ่านมา เช่น ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ในอังคารที่ 28 มิ.ย.นี้ จะมีการประชุมรัฐสภายุโรป ซึ่งคงต้องติดตามมาตรการรองรับผลการลงประชามติดังกล่าว อย่างไรก็ดีมองว่าสหภาพยุโรปคงมีการเจรจาต่อรองกับอังกฤษอีกครั้ง ขณะนี้ อังกฤษก็เกิดภาวะสูญญากาศทางการเมืองเช่นกันหลังจากนายกรัฐมนตรีประกาศลาออก สะท้อนได้ว่า ยังมีระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี หรืออาจมากกว่านั้นให้ตลาดและธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจหลักอื่น ๆ ได้ปรับตัว ซึ่งยังไม่อยากให้นักลงทุนตื่นตระหนกมากจนเกินไป
ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่นักลงทุนต้องติดตามโดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีแนวโน้มชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไปเป็นช่วงปลายปี อีกทั้งมองว่า ธนาคารกลางยุโรปและญี่ปุ่นน่าจะมีการอัดฉีดปริมาณเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น เพื่อลดความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุน รวมทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจในกลุ่มสหภาพยุโรป ทั้งนี้ บริษัทมองว่าหากเป็นนักลงทุนที่รับความผันผวนและความเสี่ยงได้อาจพิจารณาทยอยซื้อสะสมในช่วงที่ตลาดฯ ปรับตัวลดลง รวมถึงตลาดหุ้นยุโรปและญี่ปุ่น หลังปรับตัวลดลงไปแล้วค่อนข้างมาก และถือลงทุนในระยะยาว อย่างน้อย 6 เดือน ถึง 1 ปีขึ้นไป
ภาพการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ บริษัทคาดการณ์ว่า กรอบดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ระดับ 1,390-1,430 จุด การเคลื่อนไหวของดัชนีจะเป็นลักษณะ Sideway to Sideway down แต่จะไม่ปรับตัวลงแรงเหมือนสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากมองว่านักลงทุนน่าจะทยอยรับรู้และปรับตัวรับต่อข่าวดังกล่าวได้และตลาดคาดว่าผลกระทบกับไทยยังคงเป็นไปในทิศทางที่จำกัด
สำหรับนักลงทุนที่รับความผันผวนของตลาดและสามารถลงทุนระยะยาวได้ สามารถทยอยซื้อสะสมในหุ้นไทยได้ในจังหวะที่ดัชนีฯ ย่อตัวลงต่ำกว่า 1,400 จุด โดยเฉพาะกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เนื่องจากมองว่าปัจจัยกดดันเรื่อง Brexit จะเป็นปัจจัยกดดันในระยะสั้น และไม่น่าบานปลายจนใช้เวลานาน เนื่องจากคาดว่าผลการลงประชามติดังกล่าว น่าจะกดดันให้ธนาคารกลางในหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไป และธนาคารกลางยุโรปและญี่ปุ่นน่าจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ซึ่งจะสนับสนุนแรงซื้อสินทรัพย์เสี่ยงได้ในระยะถัดไป ขณะที่นักลงทุนระยะสั้นอาจรอดูสถานการณ์และตัดสินใจลงทุนในช่วงถัดไป