ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 17,000 ล้านบาทของ บมจ. ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) ที่ระดับ “A+" ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A+" ด้วยเช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่"
ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระหนี้เงินกู้เดิม ใช้ลงทุนตามแผน และให้กู้ยืมแก่บริษัทในกลุ่มบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร
อันดับเครดิต “A+" ยังคงสะท้อนถึงการเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) (อันดับเครดิต A+/Stable) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุดในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของประเทศ ทั้งนี้ การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงการดำเนินงานของบริษัทที่ผสานเป็นหนึ่งเดียวกับ CPF ซึ่งเป็นบริษัทแม่ และการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ที่บริษัทได้รับจากบริษัทแม่ด้วย
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงดำรงสถานะการเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในการดำเนินธุรกิจสัตว์บกครบวงจรในประเทศไทยของกลุ่มบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร โดยที่อันดับเครดิตของบริษัทจะเป็นไปตามอันดับเครดิตของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงใดใดที่เกี่ยวเนื่องกับอันดับเครดิตของ CPF จะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน
บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) เป็นบริษัทย่อยที่ CPF ถือหุ้นในสัดส่วน 99.98% บริษัทก่อตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 โดยการรวมบริษัทย่อยของ CPF จำนวน 10 บริษัทที่ประกอบธุรกิจสัตว์บกในประเทศไทยเข้าด้วยกัน ซึ่งทำให้บริษัทเป็นผู้ดำเนินธุรกิจสัตว์บกที่ครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ และธุรกิจอาหาร
บริษัทเป็นผู้นำในธุรกิจสัตว์บกของประเทศ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจอาหารสัตว์ภายในประเทศประมาณ 1 ใน 3 และมีส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจไก่และสุกรประมาณ 1 ใน 4 ของปริมาณที่ผลิตภายในประเทศ ธุรกิจของบริษัทแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจเลี้ยงสัตว์ และธุรกิจอาหาร ในปี 2558 ธุรกิจเลี้ยงสัตว์สร้างรายได้มากที่สุดโดยคิดเป็นสัดส่วน 47% ของรายได้รวมของบริษัท รองลงมาคือธุรกิจอาหารสัตว์ (28%) และธุรกิจอาหาร (25%)
รายได้ประมาณ 85% ของบริษัทมาจากการจำหน่ายสินค้าในประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 ช่องทางการจำหน่ายของบริษัทประกอบด้วยซุ้มขาย “ไก่ย่าง 5 ดาว" จำนวน 4,870 แห่ง ร้าน “ซีพี เฟรช มาร์ท" 416 สาขา และร้าน “ซีพี คิทเช่น" และ “ซีพี ฟู้ดเวิลด์" รวมอีก 13 สาขา นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้จากการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15% ของรายได้รวมของบริษัทอีกด้วย โดยเป็นการส่งออกทางอ้อมผ่าน บริษัท ซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยอีกแห่งหนึ่งของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร
บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) เป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของ CPF ในการดำเนินธุรกิจสัตว์บกครบวงจรในประเทศไทย ในปี 2558 บริษัทมีรายได้คิดเป็นสัดส่วน 32% ของรายได้รวมของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย คิดเป็นสัดส่วน 21% ของ CPF นอกจากนี้ CPF มีส่วนในการกำหนดทิศทางของบริษัทโดยการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของตน มาเป็นผู้บริหารของบริษัทอีกด้วย
ผลประกอบการของบริษัทมีความผันผวนเป็นไปตามวัฏจักรของอุตสาหกรรมสัตว์บก หลังจากที่บริษัทสร้างกำไรระดับสูงในปี 2557 กำไรของบริษัทอ่อนตัวลงมากในปี 2558 จากภาวะอุปทานส่วนเกินของสัตว์บกภายในประเทศ ราคาสัตว์บกภายในประเทศที่ตกต่ำ ส่งผลให้รายได้ของบริษัทในปี 2558 ลดลง 3.4% จากปีก่อนหน้าเป็น 135,975 ล้านบาท อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายก็ลดลงจากระดับที่สูงถึง 7.6% ในปี 2557 เป็น 3.8% ในปี 2558 ทำให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทก็ปรับตัวลดลง 46.5% เป็น 6,220 ล้านบาทในปี 2558 จากระดับ 11,626 ล้านบาทในปี 2557
ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 ผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้น จากการเพิ่มขึ้นของราคาสุกร ปริมาณไก่ส่งออกที่แข็งแกร่ง และการลดลงของราคากากถั่วเหลืองและข้าวโพด รายได้ของบริษัทในไตรมาสแรกของปี 2559 เท่ากับ 34,247 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายเท่ากับ 8.2% เพิ่มขึ้นจาก 2.4% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ของบริษัทในไตรมาสแรกของปี 2559 เท่ากับ 2,971 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระดับ 994 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน
ภาระหนี้สินของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่สูง โดยหนี้สินรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 26,619 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2557 เป็น 35,167 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 จากผลการดำเนินงานที่อ่อนตัวลงในปี 2558 และการลงทุนอย่างต่อเนื่อง อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้าง