(เพิ่มเติม) TRUE-ADVANC-DTAC เสนอ กทค.ทบทวนมติการคุมค่าบริการ 3G-4G แนะปล่อยแข่งขันตามกลไกตลาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 4, 2016 14:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิว-นิเคชั่น จำกัด (ทรูมูฟ เอช) ในเครือบมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น (TRUE) แจ้งว่าตามที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ซึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีมติเรื่องการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 900/ 1800/2100 MHz ทุกรายการส่งเสริมการขายเป็นวินาที และไม่ให้เกินกว่าอัตราที่กทค. ได้กำหนดไว้นั้น ทรูมูฟ เอช ได้ดำเนินการให้บริการเป็นไปตามนโยบายและข้อกำหนดต่างๆ ของ กทค. และ กสทช. มาโดยตลอด

แต่สำหรับเงื่อนไขดังกล่าวในครั้งนี้ ทรูมูฟ เอช มองว่าจะทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกในการเลือกใช้บริการแพ็กเกจที่คุ้มค่าตามรูปแบบการใช้งานของตนเองอย่างแท้จริง ทั้งยังอาจไม่สอดคล้องต่อการแข่งขันเสรีในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และไม่เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งในท้ายที่สุดจะส่งผลกระทบกับลูกค้าจำนวนมากทั้งแบบรายเดือนและเติมเงิน ซึ่งบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งแบบรายเดือนและแบบเติมเงิน ต่างก็มีอัตราค่าบริการที่ลูกค้าสามารถเลือกใช้บริการได้อย่างคุ้มค่า และสอดคล้องต่อการใช้งานตามพฤติกรรมของลูกค้าอยู่แล้ว

นอกจากนี้แนวทางของประเทศต่างๆ ทั่วโลกส่วนใหญ่ที่มีการเปิดเสรีทางบริการโทรคมนาคมนั้น จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือไม่มีการบังคับให้ต้องมีการคิดค่าบริการเป็นวินาทีในทุกแพ็กเกจแต่ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกการแข่งขันของตลาด รวมทั้งก็ไม่มีการกำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูงในทุกแพ็กเกจเพราะขัดต่อกลไกการตลาดแบบเสรี ดังนั้น ทรูมูฟ เอชเห็นว่าการกำกับดูแลของกสทช. ด้วยอัตราเฉลี่ยเหมาะสมอยู่แล้ว จึงอยากขอให้ กทค. และ กสทช. พิจารณาทบทวนมติดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบต่อผู้บริโภคและอุตสาหกรรมโดยรวม

อีกทั้งปัจจุบันลูกค้ามีพฤติกรรมการใช้งานที่หลากหลาย ผู้ประกอบการแต่ละรายจึงได้ออกแบบและนำเสนอแพ็กเกจที่มีหลายรูปแบบ รองรับความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบถ้วน โดยมุ่งเน้นให้ลูกค้าได้ประโยชน์สูงสุด ผู้บริโภคจึงมีสิทธิ์เลือกใช้แพ็กเกจ และโปรโมชั่นได้ตามการใช้งานของตนเองอย่างแท้จริง ทั้งยังมีทางเลือกที่ขยายไปใช้บริการของผู้ให้บริการรายอื่นตามที่ตนประสงค์ได้ นอกจากนี้ หากพิจารณาตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900/1800/2100 MHz ที่มีการกำหนดให้มีการลดอัตราค่าบริการลงจากเดิมนั้น ผู้ให้บริการทุกรายก็ได้ปรับลดราคาเพ็กเกจให้เป็นไปตามเงื่อนไขของใบอนุญาตอย่างเคร่งครัดแล้ว

*เอไอเอส วอน กสทช.ปล่อยให้แข่งขันตามกลไกตลาด

บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส เปิดเผยว่า จากการจัดประชุมหารือกลุ่มย่อยเพื่อหาแนวทางกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์คลื่นที่บนคลื่นความถี่ย่าน 2.1GHz คลื่นความถี่ย่าน 1800 GHz และย่านความถี่ 900 GHz จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) โดยเอไอเอส แสดงความคิดเห็นว่า ปัจจุบันสภาพการแข่งขันของตลาดโทรคมนาคมมีการแข่งขันสูง ทุกฝ่ายแข่งขันโดยเน้นด้านคุณภาพการให้บริการและราคาซึ่งอาศัยกลไกตลาด และบริษัทฯ จัดทำรายการส่งเสริมการขายให้แก่ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนพื้นฐานของการคำนึงถึงประโยชน์และความต้องการในการใช้บริการของผู้ใช้บริการเป็นหลัก โดยได้จัดทำรายการส่งเสริมการขายที่หลากหลายให้ครอบคลุมต่อความต้องการของลูกค้าทุกประเภทเพื่อให้ผู้ใช้บริการได้มีโอกาสเลือกใช้ตามความเหมาะสมและพฤติกรรมการใช้บริการของตนเอง

จะเห็นได้ว่ามีจำนวนรายการส่งเสริมการขายของบริษัทฯ จำนวนเกินกว่า 1,000 รายการส่งเสริมการขาย โดยรายการส่งเสริมการขายบางประเภทเป็นรายการส่งเสริมการขายเดิมที่ยังคงมีผู้ใช้บริการและยังไม่สิ้นสุดระยะเวลาการให้บริการตามสัญญาแต่ไม่ใช่รายการส่งเสริมการขายที่บริษัทฯ เสนอขายต่อผู้ใช้บริการปัจจุบัน นอกจากนี้บางรายการส่งเสริมการขายเป็นรายการที่ให้สิทธิผู้ใช้บริการสามารถสลับค่าบริการรายเดือนเป็นค่าบริการเสียง (Voice) หรือค่าบริการข้อมูล (Data) ได้ด้วยตัวเองโดยขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ใช้บริการในแต่ละเดือน

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ ต้องมีการพิจารณากันอย่างรอบคอบ หากการกำกับดูแลกำหนดอัตราค่าบริการในตลาดโทรคมนาคม จนส่งผลให้เกิดการแทรกแซงตลาดจะทำให้โครงสร้างอัตราค่าบริการถูกจำกัด จนอาจส่งผลเป็นการจำกัดทางเลือกของผู้บริโภค ท้ายที่สุดอาจส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งอาจทำให้ผู้ประกอบการขาดแรงจูงใจในการพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการ โดยปรับลดต้นทุนการให้บริการหรือปรับเทคโนโลยีให้ต่ำลงเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการหรือกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแล

ที่สำคัญ ผู้บริโภคคือผู้พิจารณาและตัดสินใจที่จะเลือกใช้บริการในอัตราค่าบริการแบบใด เพราะขณะนี้ในการแข่งขันทางการตลาดของธุรกิจโทรคมนาคมเน้นให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพและการบริการที่ดีที่สุด เน้นให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการอย่างต่อเนื่องนั้นหมายความว่า บริษัทฯได้พัฒนาและออกแบบเครือข่ายที่รองรับการพฤติกรรมการใช้บริการของผู้ใช้บริการให้สามารถใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตลอดเวลา บริษัทฯ จึงต้องนำคลื่นความถี่ทุกคลื่นที่ได้รับอนุญาตมาผสมผสานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้บริการของผู้ใช้บริการ

ดังนั้น แนวทางกำกับดูแลควรคำนึงถึงประโยชน์และสอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้งานของผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ หากผู้ใช้บริการประสงค์จะใช้บริการตามเงื่อนไขการให้บริการของรายการส่งเสริมการขายเดิม ก็เห็นควรเคารพสิทธิของผู้ใช้บริการจนกว่าสิ้นสุดระยะเวลาการให้บริการตามสัญญา โดยไม่ตัดสิทธิผู้ใช้บริการที่ประสงค์จะเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกรายการส่งเสริมการขาย

หากการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลจากเดิมที่ตรวจสอบอัตราค่าบริการทั้งหมดแบบเฉลี่ยเป็นการกำกับอัตราค่าบริการต่อหน่วยในแต่ละรายการส่งเสริมการขายถือเป็นการกำกับดูแลที่ขาดความยืดหยุ่น เนื่องจากถูกควบคุมโดยราคากลางและช่องว่างด้านราคาลดลง ทำให้ผู้ให้บริการแต่ละรายไม่สามารถนำเสนอรายการส่งเสริมการขายที่มีความแตกต่างกันได้ จนทำให้ทางเลือกของผู้ใช้บริการลดลงตามไปด้วยซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพการแข่งขันของตลาดในปัจจุบันที่มุ่งเน้นให้ผู้บริโภคเข้าถึงบริการที่หลากหลายและมีทางเลือกในด้านราคาที่มากขึ้น

*ดีแทค ชี้กสทช.ไม่ควรคุมอัตราค่าบริการ

บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หรือดีแทค เห็นว่าหน่วยงานกำกับดูแลควรพิจารณาถึงสมดุลระหว่างผลประโยชน์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นในสังคม ทั้งต่อผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการซึ่งต้องขยายโครงข่ายและพัฒนาบริการต่อไป รวมไปถึงระบบนิเวศน์ของอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยอยู่บนพื้นฐานของการแข่งขันโดยเสรี

ในประเทศไทยบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีการแข่งขันที่สูงมากอยู่แล้ว ทำให้ผู้ประกอบการต้องพัฒนาแพ็กเกจรูปแบบต่างๆ อย่างหลากหลายออกสู่ตลาดให้ผู้ใช้บริการได้เลือกใช้ตามความต้องการได้อย่างเหมาะสม ในประเทศอื่นๆที่มีระดับการแข่งขันเช่นเดียวกับประเทศไทยก็ไม่ได้มีการกำกับอัตราค่าบริการ โดยปล่อยให้กลไกตลาดทำงานได้อย่างเสรี เช่น ประเทศในกลุ่มอียู หรือแม้แต่ประเทศในแถบอาเซียน นอกจากนี้อัตราค่าบริการของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในแถบอาเซียนจัดอยู่ในกลุ่มต่ำสุด

ดีแทคเห็นว่าการควบคุมอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตามกฎเกณฑ์นี้จะเป็นการลดทอนการแข่งขันในการพัฒนาแพ็กเกจต่างๆ ออกสู่ตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการที่หลากหลาย จะส่งผลให้ความหลากหลายของแพ็กเกจหายไป และจะส่งผลกระทบต่อไปยังผู้ใช้บริการที่จะไม่ได้รับประโยชน์สูงสุดเนื่องจากไม่มีแพ็กเกจที่เหมาะสมต่อความต้องการของตนเอง ดีแทคเห็นว่าอาจมีการกำหนดแพ็กเกจตามราคา กสทช เป็นแพ็กเกจทางเลือก โดยยังคงให้กลไกการแข่งขันเป็นตัวกำหนดความหลากหลายแพ็กเกจและอัตราที่เหมาะสม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ