รายงานจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ สำนักงาน กสทช. เตรียมเสนอต่อคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) พิจารณาคำขออนุญาตใช้คลื่นความถี่ของ บมจ. ไทยคม (THCOM) เพื่อการควบคุมดาวเทียมไทยคม 8 และใช้คลื่นความถี่ชั่วคราวสำหรับทดสอบคุณสมบัติต่างๆ ของดาวเทียมขณะอยู่ในวงโคจร (In Orbit Test)
แหล้งข่าว กสทช.ระบุว่า วาระดังกล่าวเป็นการขออนุญาตใช้คลื่นในกิจการประจำที่ผ่านดาวเทียมที่สอดคล้องกับตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ และไม่ใช่การนำไปให้บริการสาธารณะ จึงไม่น่ามีประเด็นติดขัด อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตดาวเทียมไทยคม 8 มีการใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการกับผู้ประกอบกิจการภาคพื้นดิน อันเป็นการใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคม ก็จะมีประเด็นตามมาว่าบริษัทจะต้องดำเนินการประมูลคลื่นความถี่ตามมาตรา 45 ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ด้วยหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ขาดความชัดเจนมาโดยตลอด
ส่วนวาระเรื่องเพื่อทราบ เป็นรายงานการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ประจำไตรมาส 1/59 ระบุว่ามีการให้บริการคงสิทธิเลขหมายทั้งสิ้น 739,664 เลขหมาย ลดลงจากไตรมาสสุดท้ายของปี 58 ถึง 58.85% เมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบความผิดปกติอย่างชัดเจนในเรื่องอัตราการโอนย้ายเลขหมายสำเร็จที่มีสถิติลดลง โดยลดลงจากค่าเฉลี่ยในปี 58 ที่ 77% เหลือเพียง 47% ในไตรมาสนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม TRUE มีอัตราการโอนย้ายสำเร็จลดลงถึง 73% ขณะที่กลุ่ม AWN แม้สัดส่วนการโอนย้ายสำเร็จในเดือน ม.ค.และ ก.พ.จะเป็นปกติ แต่ในเดือน มี.ค.ก็ลดลงถึง 79%
แม้ปัจจุบัน เลขาธิการ กสทช.มีคำสั่งทางปกครองห้ามผู้รับใบอนุญาตดำเนินการทำให้เกิดการโอนย้ายเลขหมายไม่สำเร็จแล้ว แต่สิ่งสำคัญที่ยังไม่ได้ดำเนินการ คือตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าปัญหาเกิดจากอะไร เพราะหากเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ก็ต้องมีมาตรการกำกับดูแลอย่างเด็ดขาดไม่ให้กระทำผิดซ้ำรอยอีก
นอกจากนี้ วาระรายงานผลการตรวจสอบปัญหาผู้ใช้งานทรูมูฟในระบบเติมเงินไม่สามารถโทรติดต่อคอลล์เซ็นเตอร์ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หรือ ดีแทคได้ ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือน มี.ค.เมื่อดีแทคร้องเรียนมายังสำนักงาน กสทช.ขอให้ตรวจสอบการดำเนินการของ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น และ บริษัท เรียล มูฟ เนื่องจากประสบปัญหาว่าผู้ใช้บริการในระบบเติมเงิน (Prepaid) ของทั้งสองบริษัทไม่สามารถโทรติดต่อหมายเลขของดีแทคคอลเซ็นเตอร์ได้ โดยในรอบ 7 วันที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ใช้บริการโทรสำเร็จลดต่ำลงอย่างมาก ซึ่งปกติผู้ใช้บริการจะโทรติดต่อคอลล์เซ็นเตอร์เพื่อสอบถามข้อมูลทั่วไป รายการส่งเสริมการขาย รวมถึงข้อมูลการย้ายค่าย
แหล่งข่าว ระบุอีกว่า ปัญหาความขัดข้องนี้สร้างความสงสัยให้กับหลายฝ่ายว่ามีการดำเนินการที่เข้าข่ายพฤติการณ์กีดกันการแข่งขันทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ แม้สุดท้ายในเวลาต่อมา สำนักงาน กสทช. จะได้รับหนังสือแจ้งจากคู่กรณีทั้งสองฝ่ายว่า มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเรียบร้อยแล้วก็ตาม โดยในส่วนของ ทรู มูฟ เอชฯ และ เรียล มูฟ ระบุสาเหตุขัดข้องว่าเกิดจากปัญหาทางด้านเทคนิคที่ระบบ IN แต่สำหรับสำนักงาน กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแล ควรต้องนำกรณีปัญหานี้เป็นโจทย์ในการขบคิดต่อไปว่าจะมีแนวทางการตรวจสอบจำแนกปัญหาอย่างไร ระหว่างสาเหตุที่เกิดจากความขัดข้องทางเทคนิค กับพฤติการณ์ที่เป็นการกีดกันการแข่งขันทางธุรกิจ รวมทั้งควรหาแนวทางวางมาตรการป้องกันปัญหาไว้ล่วงหน้าด้วย