นายวีระพล ไชยธีรัตต์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป (CWT) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทเตรียมยื่นทำโรงไฟฟ้าไบโอแมสที่ จ.สระแก้ว ขนาด 8 เมกะวัตต์ ด้วยงบลงทุนค่าก่อสร้างประมาณ 800 ล้านบาท แต่หากรวมเงินลงทุนด้านวัตถุดิบที่จะนำมาเป็นเชื้อเพลิงด้วยก็คาดว่าจะใช้เงินทั้งสิ้นราว 1,000 ล้านบาท เบื้องต้นคงต้องมีพันธมิตรที่เป็นเจ้าของโรงไม้มีวัตถุดิบเศษไม้เพียงพอเข้ามาถือหุ้นด้วย
"โครงการโรงไฟฟ้านี้คาดว่าทางภาครัฐจะเปิดให้ยื่น Bid ราวเดือน มี.ค.60 คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จและเริ่มรับรู้รายได้ราวปี 62 เราต้องหาพันธมิตรที่เป็นเจ้าของวัตถุดิบที่จะป้อนเป็นเชื้อเพลิง และเราเป็นผู้ลงทุน ซึ่ง CWT จะเป็นฝ่ายถือหุ้นใหญ่ 75%"นายวีระพล กล่าว
นายวีระพล กล่าวอีกว่า บริษัทคาดว่ารายได้และกำไรปีนี้จะทำได้สูงกว่าปีก่อน โดยเฉพาะรายได้รวมคาดว่าจะเกินกว่า 1,500 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีรายได้ 1,388 ล้านบาท โดยรายได้หลักมาจากการขายผลิตภัณฑ์เบาะรถยนต์ และยังเริ่มรับรู้รายได้จากธุรกิจส่งออกชิ้นไม้สับเข้ามาด้วย
สำหรับกำไรสุทธิที่คาดว่าจะออกมาสูงกว่าปีก่อน เป็นไปตามยอดขายที่ดีขึ้น และบริษัทตั้งเป้าผลักดันอัตรากำไรสุทธิให้สูงกว่าปีก่อนที่อยู่ในระดับไม่ถึง 5% โดยช่วงไตรมาส 1/59 มีอัตรากำไรสุทธิแล้ว 6.6% และทั้งปีก็น่าจะเกินกว่า 5% เนื่องจากมีการบริหารจัดการสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ บริหารต้นทุนและปรับปรุงกระบวนการผลิตได้ดี
ทั้งนี้ แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/59 คาดว่าจะออกมาสูงกว่างวดเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้จากการขาย 360 ล้านบาท แต่คงเทียบไม่ได้กับไตรมาส 1/59 ทั้งรายได้ 404 ล้านบาทและกำไร 27 ล้านบาท เนื่องจากไตรมาสที่แล้วมีรายการพิเศษเข้ามา
"แนวโน้มไตรมาส 2/59 ดีกว่างวดเดียวกันปีที่แล้ว แต่ถ้าเทียบไตรมาส 1/59 ไม่ได้เพราะมีรายการพิเศษ ซึ่งไตรมาส 2/59 มีรายการพิเศษน้อยกว่า เช่น เงินจากด้อยค้า ลูกหนี้ ทั้งปีเดิมตั้งเป้ารายได้ 1,500 ล้านบาท ถ้ารวมส่งออกไม้สับด้วยอีกเกือบ 200 ล้านบาท ก็มีโอกาสที่จะเกินเป้า"นายวีระพล กล่าว
นายวีระพล กล่าวว่า ธุรกิจหลัก คือ การผลิตเบาะหนังสำหรับรถยนต์ ลูกค้าหลัก คือ ค่ายฮอนด้า และอีซูซุ ส่วนโตโยต้าไม่ได้เป็นลูกค้า โดยลูกค้าส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้มีการขยายฐานการผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้น ซึ่งบริษัทได้รับสัญญาผลิตและขายหนังเบาะรถยนต์จากผู้ผลิตรถยนต์มากรุ่นขึ้น เนื่องจากมีการออกรถยนต์รุ่นใหม่ เช่น ค่ายฮอนด้า
"เราไม่มีซัพพลายกับโตโยต้า เพราะลูกค้าหลักเป็นฮอนด้า อีซูซุ ยิ่งฮอนด้าออกโมเดลใหม่ของซีวิค เราก็จะได้รับประโยชน์จากออเดอร์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีออเดอร์ที่ส่งเข้ามาอีก 2-3 ปี ออเดอร์เราจะสั่งตามโมเดลรถแต่ละรุ่น มองว่าอุตสาหกรรมนี้ก็ยังไปได้ดี ส่วนใหญ่ลูกค้าขยายการผลิตเพื่อส่งออกมากกว่าในประเทศ"นายวีระพล กล่าว
ปัจจุบัน บริษัทผลิตเบาะรถยนต์ที่กว่า 2 หมื่นคัน/เดือน คิดเป็นอัตราใช้กำลังการผลิตราว 60-80% จากความสามารถเต็มกำลังการผลิตที่ 4 หมื่นคัน/เดือน ซึ่งปีนี้บริษัทใช้งบลงทุนราว 30-40 ล้านบาทเพื่อปรับปรุงการใช้งานของเครื่องจักร อาคารโรงงานทั้งหมด
ส่วนโรงงานตัดเย็บเบาะรถยนต์แห่งใหม่ที่ประเทศกัมพูชา ขณะนี้มีออร์เดอร์เข้ามาแล้ว 1,000 คันต่อเดือน โรงงานแห่งนี้ตั้งเป้าภายในปี 62 จะผลิตได้ 1 ล้านคันต่อปี จากกำลังการผลิตทั้งหมด 1.2 ล้านคัน ซึ่งเริ่มผลิตแล้วตั้งแต่เดือน พ.ค.59 เป็นโรงงานร่วมทุน CWT ถือหุ้น 25% ร่วมกับพันธมิตรรายอื่น โดย CWT มีหน้าที่ดูแลบริหารด้านการควบคุมคุณภาพและการผลิต
สำหรับธุรกิจส่งออกชิ้นไม้สับจากไม้ยูคาลิปตัสภายใต้บริษัทร่วมทุนนั้น ภายในเดือน ก.ค.นี้บริษัทได้เริ่มส่งออกชิ้นไม้สับไปต่างประเทศ ได้แก่ จีนและญี่ปุ่น คาดว่าปีนี้จะทำรายได้ราว 200 ล้านบาทเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 3/59 เป็นไตรมาสแรก ส่วนปี 60 จะรับรู้รายได้เต็มที่ทั้งปีราว 400 ล้านบาท ซึ่งธุรกิจนี้สามารถขยายตลาดต่างประเทศได้อีกมาก โดยส่วนใหญ่ลูกค้าจะนำไปผลิตเยื่อกระดาษ นอกจากตลาดจีนและญี่ปุ่นแล้ว ยังมองตลาดเกาหลีที่มีความต้องการสูงด้วย
อนึ่ง ธุรกิจส่งออกไม้สับดำเนินการโดย บริษัท ชัยวัฒนา เอ็กพอร์ต จำกัด ซึ่งจัดตั้งขึ้นร่วมกับบริษัท แก้วลำดวนกรุ๊ป จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท CWT ถือหุ้น 80% แก้วลำดวน กรุ๊ป 20% ซึ่งนอกจากขายชิ้นไม้ไปต่างประเทศแล้ว ยังมีเศษไม้เหลือที่ขายให้กับโรงงานไฟฟ้าไบโอแมสได้ด้วย ปัจจุบันมียอดขายอยู่ที่ 300 ตันต่อเดือน
"หลังเรายกเลิกการเข้าลงทุนในบริษัท แก้วลำดวน กรุ๊ป จำกัด แล้ว เราก็มีทางเลือกอีกทางคือ ชวนเค้ามาร่วมจัดตั้งบริษัทแห่งใหม่ เพื่อส่งออกชิ้นไม้สับไปต่างประเทศแทน"นายวีระพล กล่าว