ทริสเรทติ้งปรับลดอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. สหโมเสคอุตสาหกรรม (UMI) เป็นระดับ “BB+" จากเดิมที่ระดับ “BBB-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยการปรับลดอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่ถดถอยลงจากความต้องการกระเบื้องภายในประเทศที่ลดลง ในขณะที่การแข่งขันมีความรุนแรงยิ่งขึ้นจากกระเบื้องนำเข้า ทั้งนี้ สภาพตลาดที่อ่อนตัวส่งผลให้ยอดขายและอัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทลดลง
การปรับลดอันดับเครดิตยังพิจารณาไปถึงการฟื้นฟูธุรกิจของ บริษัท ที.ที.เซรามิค จำกัด (มหาชน) ที่ล่าช้ากว่าที่คาดไว้ โดยผลขาดทุนจากการดำเนินงานของบริษัท ที.ที. เซรามิค เป็นปัจจัยฉุดให้ภาพรวมในการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงตั้งแต่เมื่อครั้งที่บริษัทซื้อกิจการของบริษัท ที.ที. เซรามิค เมื่อกลางปี 2555 ทั้งนี้ สภาวะตลาดที่ยังคงอ่อนแอในปัจจุบันส่งผลทำให้การฟื้นฟูบริษัท ที.ที. เซรามิค ต้องใช้เวลามากกว่าที่วางแผนไว้ นอกจากนี้ บริษัทยังคงเผชิญกับราคาพลังงานที่ผันผวนซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงความแข็งแกร่งทางธุรกิจของบริษัทจากการมีส่วนแบ่งทางการตลาดในระดับปานกลาง ตลอดจนการมีตราสัญลักษณ์สินค้าที่เป็นที่ยอมรับ และการดำเนินงานที่ยาวนานในธุรกิจ
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่ารายได้และอัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะสอดคล้องกับประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้ง ทั้งนี้ อันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับเพิ่มขึ้นหากยอดขายหรืออัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ หรือสถานะทางการเงินของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นจนเท่ากับระดับก่อนที่จะมีการซื้อกิจการของบริษัท ที.ที. เซรามิค ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทด้อยกว่าประมาณพื้นฐานอย่างมีนัยสำคัญเป็นระยะเวลานาน
UMI เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องในประเทศไทย บริษัทก่อตั้งในปี 2516 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2532 บริษัทมีบริษัทย่อยที่สำคัญ ได้แก่บริษัท ที.ที. เซรามิค และ บมจ.โรแยล ซีรามิค อุตสาหกรรม (RCI) บริษัทได้ซื้อกิจการของบริษัท ที.ที. เซรามิค ในเดือนกรกฎาคม 2555 และถือหุ้นในสัดส่วน 66.7% ณ เดือนมิถุนายน 2559 บริษัทยังได้ซื้อหุ้นของ RCI จำนวน 32.3% ในเดือนมิถุนายน 2555 และได้ขายหุ้นดังกล่าวออกไปตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2558 โดยขายหุ้นที่เหลือทั้งหมดภายในเดือนมิถุนายน 2559
บริษัทจัดจำหน่ายสินค้าภายใต้ตราสัญลักษณ์ “ดูราเกรส" “ดูราเกรส-ลีลา" และ “เซอเกรส" บริษัทจำหน่ายสินค้าในประเทศไทยมานานกว่า 30 ปีโดยเน้นตลาดลูกค้าระดับกลางถึงระดับสูงและยอดขายเกือบทั้งหมดมาจากตลาดภายในประเทศ บริษัทจำหน่ายสินค้าผ่านทางผู้ค้าปลีกสินค้าตกแต่งบ้านชั้นนำต่าง ๆ เป็นหลัก โดยปริมาณการจำหน่ายกระเบื้องของบริษัทและของบริษัท ที.ที. เซรามิค รวมแล้วอยู่ที่ประมาณ 19.6 ล้านตารางเมตร (ตร.ม.) ในปี 2558
ทริสเรทติ้งมองว่าการขายหุ้นของ RCI ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทเนื่องจากบริษัทได้รับเงินสดจำนวนมากและสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่ผลการดำเนินงานของบริษัทโรแยล ซีรามิค อุตสาหกรรม จะขาดทุนอีกในอนาคต อย่างไรก็ตาม การขายหุ้นดังกล่าวก็ส่งผลทำให้ขนาดธุรกิจของบริษัทเล็กลงด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทคาดว่าจะลดลงเหลือ 11% จาก 15% และกำลังการผลิตกระเบื้องก็จะลดลงเหลือ 28 ล้าน ตร.ม. ต่อปี จาก 34 ล้าน ตร.ม. ต่อปี
ผลประกอบการของบริษัทในปี 2558 อ่อนแอกว่าที่คาด รายได้ของบริษัทซึ่งรวมถึงรายได้จากบริษัท ที.ที. เซรามิค และ RCI เท่ากับ 3,739 ล้านบาท ลดลงประมาณ 11.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน ปริมาณการขายเท่ากับ 23.6 ล้าน ตร.ม. ลดลง 10.3% จากปีก่อน โดยหดตัวมากกว่าการลดลงของยอดขายในอุตสาหกรรมที่ 4.3% จากสาเหตุการก่อสร้างชะลอตัวโดยเฉพาะในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์ การแข่งขันในตลาดก็มีความรุนแรงมากขึ้นจากการแข่งขันด้านราคาและปริมาณกระเบื้องพอร์ซเลนนำเข้าจากประเทศจีนที่กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง
การหดตัวของความต้องการกระเบื้องส่งผลให้บริษัทและบริษัทย่อยต้องหยุดดำเนินการในบางสายการผลิต โดยบริษัทมีการบันทึกค่าปิดเตาจำนวน 141 ล้านบาทในปี 2558 นอกจากนี้ บริษัท ที.ที. เซรามิค ยังคงรายงานผลการดำเนินงานที่ขาดทุนอันเนื่องมาจากอัตราการผลิตที่ยังคงต่ำและการแข่งขันที่รุนแรงยิ่งขึ้นจากกระเบื้องนำเข้าอีกด้วย จากสาเหตุดังกล่าวส่งผลให้บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน (ก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย) ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 4.9% ในปี 2558 เปรียบเทียบกับ 11.3% ในช่วงก่อนซื้อกิจการของบริษัท ที.ที. เซรามิค ในปี 2554 บริษัทได้มีการตั้งค่าด้อยสินทรัพย์ของบริษัท ที.ที. เซรามิค เป็นจำนวน 114 ล้านบาทในปี 2558 ส่งผลให้บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 190 ล้านบาทในปี 2558
ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2559 รายได้ของบริษัท (ไม่รวมรายได้จาก RCI ) อยู่ที่ 751 ล้านบาท ลดลง 9.9% จากปีก่อนหน้า ยอดขายของบริษัท (ไม่รวมยอดขายของ RCI) ลดลงเหลือ 4.63 ล้าน ตร.ม. ลดลง 13.4% จากปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ราคาก๊าซธรรมชาติที่ลดลงช่วยทำให้กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 12% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีของอัตรากำไรที่ 5.3% อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งยังมองว่าบริษัทยังคงมีความเสี่ยงจากราคาก๊าซธรรมชาติที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของราคาน้ำมัน และบริษัทอาจจะมีการบันทึกค่าใช้จ่ายจากการปิดเตาอีกครั้งหากยอดขายและอัตราการใช้กำลังการผลิตของบริษัทยังคงอยู่ในระดับต่ำ
โครงสร้างทางการเงินของบริษัทมีการปรับตัวดีขึ้น ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 บริษัทมีเงินกู้รวมเท่ากับ 1,482 ล้านบาทซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยหุ้นกู้ของบริษัทจำนวน 600 ล้านบาทและเงินกู้จากการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัท ที.ที. เซรามิค จำนวน 829 ล้านบาท บริษัทมีการซื้อหุ้นกู้คืนทุกปีตั้งแต่ที่ได้มีการออกหุ้นกู้มา ทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือ 44.6% ในเดือนมีนาคม 2559 จากระดับสูงสุดที่ 52.6% ในปี 2556 หลังจากขายหุ้นใน RCI และจ่ายเงินปันผลเรียบร้อยแล้วคาดว่าบริษัทจะมีเงินสดเหลืออยู่ประมาณ 300 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทวางแผนจะใช้เงินจำนวนดังกล่าวในการซื้อหุ้นกู้คืนอีกจำนวน 100-150 ล้านบาทภายในปีนี้
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของบริษัทมีเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากหุ้นกู้ของบริษัทจำนวน 600 ล้านบาทจะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนกรกฎาคม 2560 และคาดว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนจำนวนประมาณ 80 ล้านบาท ในขณะที่แหล่งเงินทุนของบริษัทในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะมาจากเงินทุนจากการดำเนินงานประมาณ 180-200 ล้านบาทและเงินสดในมืออีกประมาณ 300 ล้านบาท ดังนั้น จึงคาดว่าบริษัทจำเป็นจะต้องพึ่งพาการออกหุ้นกู้ใหม่หรือเงินกู้จากธนาคารเพื่อใช้ชำระหุ้นกู้เดิม
ภายใต้ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทหลังจากการขายหุ้นของ RCI แล้วคาดว่าจะอยู่ในช่วงประมาณ 2,800-2,900 ล้านบาทในอีก 1-2 ปีข้างหน้า อัตรากำไรจากการดำเนินงานคาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำระหว่าง 5%-5.5% ซึ่งสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่ยังอ่อนแอของบริษัท ที.ที. เซรามิค ตลอดจนอัตราการผลิตที่ต่ำ และความเสี่ยงที่จะต้องปิดเตาบางเตาอีกครั้ง อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนคาดว่าจะต่ำกว่า 40% จากการซื้อคืนหุ้นกู้อย่างต่อเนื่องและจากการไม่มีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนขนาดใหญ่ ส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมนั้นคาดว่าจะอยู่ในช่วงระหว่าง 12%-15% ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า