สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย เปิดเผยถึงโครงการประเมินคุณภาพการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นว่า ในปี 2559 พบว่าผลคะแนนเฉลี่ยของทุกบริษัทจดทะเบียนยืนอยู่ที่ 91.62 คะแนน ลดลงจากปีก่อนหน้าที่เคยยืนอยู่ที่ 92.68 คะแนน คิดเป็นการลดลง 0.18% ด้วยเหตุผลของการยกระดับแบบประเมิน ที่เพิ่มความเข้มข้นขึ้น อาทิ ข้อ Penalty ด้านการเปิดเผยข้อมูล เรื่องการเพิ่มทุน,การไม่กีดกันผู้ถือหุ้น และการแถลงผลการดำเนินการในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น (AGM)
แบบประเมินแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ แบบ A- ก่อนการประชุม แบบ B-ระหว่างวันประชุม และแบบ C-หลังการประชุม
คะแนนใน แบบประเมิน A: 50 คะแนน มีระดับคะแนนเฉลี่ย ในปี 2559 อยู่ที่ 43.19 ลดลง เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 43.87
โดยมีเกณฑ์ที่บริษัทจดทะเบียนบางแห่ง ไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูล ก่อนวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นเสนอชื่อบุคคล เพื่อเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท,การกำหนดนิยามของกรรมการอิสระ,การแจ้งสิทธิในการเสนอเพิ่มวาระ,การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกรรมการอิสระที่บริษัทกำหนดให้เป็นผู้รับมอบฉันทะ และการระบุ การมีส่วนได้ส่วนเสีย ในรอบ 2 ปี ของกรรมการอิสระที่ถูกเสนอชื่อในการประชุม AGM เป็นต้น
คะแนนในแบบ ประเมิน B:40 คะแนน มีระดับคะแนน เฉลี่ยในปี 2559 อยู่ที่ 39.05 ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 39.25
โดยมีเกณฑ์ที่บริษัทจดทะเบียน บางแห่งไม่ได้ปฏิบัติ ในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ได้แก่ การเข้าร่วมประชุมของกรรมการบริษัท ที่น้อยกว่า 90% ,ประธานกรรมการทุกชุดไม่เข้าร่วมประชุม อาทิ ประธานกรรมการ,ประธานกรรมการตรวจสอบ และการแถลงผลการดำเนินการในวันประชุม เป็นต้น
คะแนนในแบบ ประเมิน C: 10 คะแนน มีระดับคะแนน เฉลี่ย ในปี 2559 อยู่ที่ 9.39 ลดลง เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 9.57
โดยมีเกณฑ์ที่บริษัทจดทะเบียนบางแห่งไม่ได้ปฏิบัติ หลังในวันประชุมสามัญ ผู้ถือหุ้น ได้แก่ การเผยแพร่รายงานการประชุม บนเว็บไซด์ และแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใน 14 วัน,การระบุรายชื่อกรรมการ/ผู้บริหาร ที่เข้าร่วมประชุม,การเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นซักถามประเด็นที่สำคัญ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม พบว่า ด้านการให้ความร่วมมือ และใส่ใจต่อโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุทจริต (Collection Action Coalition:CAC) มีระดับเป็นที่น่ายินดีมาก กล่าวคือ บริษัทจดทะเบียนทุกแห่งมีความตั้งใช้ที่จะเข้าร่วมโครงการฯ โดยมีบริษัทผ่านเกณฑ์จนได้รับวุฒิบัตร แล้วจำนวน 81 บริษัท มากขึ้นจากปีก่อนหน้า ถึง 42 บริษัท และที่เหลือกำลังรอขั้นตอนการเข้าสู่การผ่านเกณฑ์เป็นลำดับไป
ส่วนประเด็นการแจกของชำระร่วย พบว่าบริษัทจดทะเบียน ให้ความร่วมมือ สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตามประกาศเมื่อวันที่ 15 ก.ค.2559 เป็นอย่างดี โดยมีสัดส่วนการไม่แจกของชำร่วยสูงถึง 75%
ประการสุดท้ายพบว่า อัตราการเข้าร่วมประชุมของผู้ถือหุ้น ยืนระดับอยู่ที่ 5% ของจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมด ราวกว่า 4 ล้านรายชื่อ สมาคมฯ จึงขอรณรงค์การเพิ่มจำนวนการเข้าร่วมประชุมของผู้ถือหุ้นให้มากขึ้น เพราะนับเป็นวันสำคัญของการพบปะ แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้บริหาร และผู้ถือหุ้น อย่างเป็นทางการปีละหนึ่งครั้ง และยังมีส่วนช่วยสร้างความยั่งยืนบนหลักการของการมีธรรมาภิบาลที่ดีของตลาดทุนไทยอีกทางหนึ่ง