โบรเกอร์แนะ "ซื้อ"หุ้น ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มองแนวโน้มกำไรไตรมาส 2/59 ยังขยายตัวจากไตรมาส 1/59 แม้ได้รับผลกระทบจากการตั้งสำรองอยู่บ้างแต่ลดลงจากไตรมาสแรก อีกทั้งสินเชื่อฟื้นตัวขึ้น ขณะที่ NPL เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง แต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยลดลงตาม กดดันการทำกำไรของธนาคาร
ส่วนปัจจัยเกี่ยวกับการเริ่มโครงการ National e-Payment เริ่มจากการให้บริการโอนเงินระหว่างบุคคล"พร้อมเพย์"ในเดือน ต.ค.นี้ระยะสั้นยังไม่เห็นผลกระทบที่จะทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมหายไปมากนัก แต่ระยะยาวอาจจะมีผลดังกล่าวเกิดขึ้น ขณะที่ในทางกลับกันธนาคารสามารถลดต้นทุนการจัดการเงินสดตามไปด้วย
ด้านการขยายตัวของสินเชื่อของ KBANK ยังมีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลังจะมีการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เป็นปัจจัยหนุน เนื่องจากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐจะช่วยกระตุ้นดีมานด์สินเชื่อจากภาคเอกชนเพื่อนำไปลงทุนตาม แต่สินเชื่อรายย่อยอาจเห็นการชะลอตัวในครึ่งหลังของปีหลังผ่านช่วงไฮซีซั่นไปแล้ว
ส่วนราคาหุ้น KBANK มีความน่าสนใจที่เริ่มมีแนวโน้มปรับฐานขึ้นหลังจากปรับตัวลดลงไปมาก แต่ราคาหุ้นในปัจจุบันมี Upside ไม่มากแล้ว
เมื่อเวลา 14.58 น.ราคาหุ้น KBANK อยู่ที่ 178 บาท เพิ่มขึ้น 3.00 บาท (+1.71%) ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) ทิสโก้ ซื้อ 187 เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ ซื้อ 182 บัวหลวง ซื้อ 180 แอพเพิล เวลธ์ ซื้อเมื่ออ่อนตัว 180 ฟิลลิป ทยอยซื้อ 176 เอเซีย พลัส ซื้อ 175 ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ ซื้อ 205
นายอดิสรณ์ มุ่งพาลชล นักวิเคราะห์การลงทุนด้านหลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) แนะนำ "ทยอยซื้อ" หุ้น KBANK ราคาเป้าหมาย 176 บาท โดยมองกำไรปีนี้จะเติบโต 4.5% จากปีก่อน มาอยู่ที่ 4.1 หมื่นล้านบาท เป็นผลมาจากการขยายตัวของสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ซึ่งเริ่มเห็นการขยายตัวที่ดีขึ้นในช่วงไตรมาส 2/59 จากสินเชื่อภาคธุรกิจขนาดใหญ่ อย่างเช่น การปล่อยสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการประมูล 4G และการปล่อยสินเชื่อให้ดีลซื้อกิจการขนาดใหญ่ ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลังหากการลงทุนภาครัฐเริ่มด้านหน้ามากขึ้น จะเป็นโอกาสให้สินเชื่อภาคธุรกิจขนาดใหญ่ของ KBANK ขยายตัวได้มากขึ้นกว่าครึ่งปีแรก นอกจากนี้รายได้ค่าธรรมเนียมของ KBANK ยังมีแนวโน้มการเติบโตก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กำไรขยายตัวได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่กดดันกำไรของ KBANK คือ การตั้งสำรองที่สูงขึ้นอีก 12% จากปีก่อน เนื่องจากแนวโน้มของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยังเพิ่มขึ้นแต่ก็อยู่ในอัตราที่ชะลอตัวลง ซึ่งในปีนี้ประเมินว่า NPL ของ KBANK จะอยู่ที่ 3.5-3.6% จากสิ้นปีก่อนที่ 2.8% ตามที่ผู้บริหาร KBANK ได้คาดการณ์ไว้ ส่วนของการเปิดให้บริการ "พร้อมเพย์" มองว่าในปีนี้ KBANK จะยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากมีการเปิดให้บริการเพียง 2 เดือนในปีนี้ แต่อาจจะไปกระทบรายได้ค่าธรรมเนียมในปี 60 เต็มปี ส่งผลให้ทางบล.ฟิลลิป ประเมินกำไร KBANK ในปี 60 จะลดลง 3.3% จากรายได้ค่าธรรมเนียมที่หายไปค่อนข้างมาก นอกจากนี้ ยังมองว่าในระยะยาวผลกระทบของรายได้ค่าธรรมเนียมมากกว่าต้นทุนการดูแลเงินสดที่ลดลงตามไป ทำให้ต้นทุนที่ลดลงไม่สามารถชดเชยรายได้ที่หายไปได้ นักวิเคราะห์ บล.แอพเพิล เวลธ์ แนะนำ KBANK "ซื้อเมื่ออ่อนตัว" ราคาเป้าหมายที่ 180 บาท โดยได้ปรับประมาณการณ์กำไรของ KBANK ในปีนี้ลงเป็น 3.9 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่ 4.2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากรายได้ที่ไม่ใช่ค่าธรรมเนียมชะลอตัวลง และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่จะลดลงเป็น 3.5% จากเดิมที่ 3.62% จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมากดดันกำไรในปีนี้ แนวโน้ม NPL ของ KBANK คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างชะลอตัว โดยคาดว่าไตรมาส 2/59 เพิ่มขึ้นเป็น 2.99% จาก 2.81% ในไตรมาส 1/59 และสิ้นปีจะค่อย ๆ ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3.5-3.6% แต่การตั้งสำรองในไตรมาส 2/59 คาดว่าจะลดลงจากไตรมาสแรกที่ตั้งไว้ 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการตั้งสำรองที่สูง และการตั้งสำรองจะเริ่มทยอยลดลงในไตรมาสต่อไป ในส่วนของการขยายตัวสินเชื่อของ KBANK มีแนวโน้มขยายตัวได้มากขึ้นและมีโอกาสที่เป็นไปตามเป้าหมายที่ KBANK ให้ไว้ที่เติบโต 6-7% เนื่องจากไตรมาส 2/59 เริ่มเห็นการขยายตัวของสินเชื่อราว 3.2% มาจากการให้สินเชื่อดีลการซื้อกิจการขนาดใหญ่และสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการประมูล 4G ด้านบริการ"พร้อมเพย์"ขณะนี้คงยังไม่สามารถประเมินผลกระทบที่แน่นอนได้ เพราะจะเริ่มใช้จริงภายในเดือน ต.ค.นี้ และคงไม่ส่งผลกระทบมากในปีนี้ แต่ปีหน้าจะต้องดูปริมาณการทำธุรกรรมของลูกค้าว่ามีมากน้องเพียงใด เพราะต้องใช้ระยะเวลาในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกค้า ทั้งนี้ แนะนำให้ทยอยซื้อหุ้น KBANK เมื่ออ่อนตัว เพราะราคาหุ้นเพิ่มขึ้นมาพอสมควรแล้ว นางอุษณีย์ ลิ่วรัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเซีย พลัส แนะนำ "ซื้อ" KBANK ราคาเป้าหมาย 175 บาท ประเมินกำไรในไตรมาส 2/59 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากไตรมาส 1/59 เล็กน้อยมาอยู่ที่ 9.73 พันล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโต 0.9% จากไตรมาสแรก มองว่ามาจากการตั้งสำรองลดลงหลังจากไตรมาสแรกตั้งสำรองสูงมากแล้ว แต่ยังมีปัจจัยกดดันกำไรจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารลงในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยกดดันกำไรของ KBANK จากรายได้ค่าธรรมเนียมในไตรมาส 2/59 ลดลงจากไตรมาสแรก เนื่องจากรายได้ค่าธรรมเนียมบางประเภทปรับตัวลดลงมาก เช่น รายได้ค่าธรรมเนียมจากการขายประกันที่มีรายได้ในส่วนนี้มากในไตรมาสแรก ก่อนจะชะลอตัวในช่วงไตรมาสสอง เนื่องจากลูกค้าซื้อประกันผ่านธนาคารไปมากแล้ว อีกทั้งรายได้ค่าธรรมเนียมจากการเป็นที่ปรึกษาดีลขนาดใหญ่ อย่างเช่น ดีลการซื้อกิจการ บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (BIGC) ของบมจ. เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) นั้นแม้ว่าจะเป็นดีลใหญ่ แต่มีส่วนต่างจาการให้บริการที่ไม่สูงมากนัก ซึ่งไม่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อกำไรในไตรมาส 2/59 มากนัก ด้านแนวโน้มของ NPL นั้นคาดว่าในไตรมาส 2/59 จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.9% จาก 2.81% ในไตรมาส 1/59 และจะค่อยปรับตัวเพิ่มขึ้นจนถึงระดับที่ธนาคารได้ประเมินไว้ในสิ้นปีนี้อยู่ที่ 3.5% และทิศทางของ NPL ในปีนี้มองว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นแบบชะลอตัว และจะค่อย ๆ ลดลงในปีหน้า สำหรับการขยายตัวด้านสินเชื่อของ KBANK มองว่าครึ่งปีหลังจะขยายตัวดีกว่าครึ่งปีแรก และส่งผลให้สินเชื่อรวมของ KBANK ทั้งปีเป็นไปตามเป้าที่ธนาคารตั้งไว้เติบโต 6-7% โดยมีปัจจัยหนุนมาจากการโครงการลงทุนภาครัฐที่ทยอยออกมา และส่งผลให้ภาคเอกชนเริ่มมีการลงทุนตาม ซึ่งการลงทุนของภาครัฐที่ออกมาจะเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นความต้องการสินเชื่อเพื่อนำมาลงทุน หลังจากในช่วงครึ่งปีแรกสินเชื่อผู้ประกอบการรายใหญ่ชะลอตัว แต่ในส่วนของสินเชื่อรายย่อยในครึ่งปีหลังจะชะลอตัว หลังจากที่ไตรมาส 2/59 เป็นช่วงฤดูกาลกาลที่สินเชื่อรายย่อยเติบโตมากผ่านไปแล้ว ส่วนบริการ "พร้อมเพย์" ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการ National e-Payment นั้นในปีนี้ยังไม่เห็นถึงผลกระทบมากนักเนื่องจากมีการเปิดให้บริการจริงในช่วงปลายเดือน ต.ค.นี้ แต่อาจกระทบกับรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวกับ Transaction เล็กน้อยเพียง 4-5% ในปี 60 แต่อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวจะต้องติดตามในระยะยาว เพราะต้องรอดูผลลัพธ์เรื่องปริมาณการใช้บริการ ความปลอดภัยในการใช้งาน และการลดต้นทุนการบริหารจัดการเงินสดของธนาคาร ซึ่งในระยะสั้นยังไม่สามารถมองเห็นผลกระทบที่ชัดเจนได้ ทั้งนี้ บล.เอเซีย พลัส ประเมินกำไรของ KBANK ในปีนี้ลดลง 7.5% จากปีก่อน หรือมาอยู่ที่ 3.6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นตามระดับ NPL ที่สูงขึ้น แต่ในปี 60 มองว่ากำไรจะกลับมาเติบโต 11% จากปีนี้ ซึ่งลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 15% เนื่องจากหักลบกำไรที่จะหายไป 4-5% จากการเปิดให้บริการ"พร้อมเพย์"เต็มปี แต่การตั้งสำรองในปีหน้าก็มีแนวโน้มที่จะลดลงจากปีนี้ด้วย แม้ว่าจะมีปัจจัยที่กดดันผลการดำเนินงานของ KBANK ค่อนข้างมาก แต่ราคาหุ้นของ KBANK นั้นในช่วงที่ผ่านมาได้ปรับตัวลดลงไปมากแล้ว และปัจจุบันราคาหุ้นเริ่มปรับฐานขึ้นมาพอสมควร แต่ก็มี Upside ไม่มากนัก จึงแนะนำให้นักลงทุนซื้อหุ้น KBANK ในช่วงที่ราคาหุ้นมีการย่อตัวลง