นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานกรรมการ บมจ.ซุปเปอร์บล๊อก (SUPER) ให้สัมภาษณ์กับ"อินโฟเควสท์"ว่า เตรียมเงินลงทุนอย่างน้อย 6.2-6.3 หมื่นล้านบาท รองรับการลงทุนผลิตไฟฟ้าที่ตั้งเป้าหมายจะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ในมือ 2,000 เมกะวัตต์ (MW) ในสิ้นปี 60 จากปีนี้ที่คาดว่าจะทำได้ 1,000 MW ขณะที่ปัจจุบันที่มี PPA อยู่ 713 MW
สำหรับกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะมาจากการซื้อกิจการและร่วมลงทุน ขณะเดียวกันยังมีแผนลงทุนเองด้วย โดยสนใจยื่นเสนอขายไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะชุมชน ,ขยะอุตสาหกรรม และโซลาร์ฟาร์มหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร รวมถึงจะมีการขยายกำลังผลิตไฟฟ้าไปยังต่างประเทศ คาดว่าจะเห็นแห่งแรกเป็นโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่นช่วงปลายปีนี้
พร้อมกันนี้ ยังคาดว่ากำไรสุทธิในช่วงไตรมาส 3/59 จะดีกว่าไตรมาส 2 หลังมีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น อีกทั้งคาดว่าจะบันทึกค่าใช้จ่ายลดลง โดยการทำกำไรได้ต่อเนื่องในแต่ละไตรมาส จะผลักดันให้ปีนี้พลิกมีกำไรสุทธิ ส่วนในระยะ 2 ปี (ปี 59-60) คาดว่ารายได้จะเติบโตได้ราวปีละ 100% ตามการเติบโตของกำลังการผลิตไฟฟ้าในมิอ แต่ในส่วนของกำไรอาจจะเติบโตได้ดีกว่า พร้อมศึกษาการนำส่วนเกินมูลค่าหุ้นมาล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่กว่า 1 พันล้านบาท เพื่อรองรับการจ่ายปันผลในอนาคต โดยอาจจะเสนอให้ผู้ถือหุ้นพิจารณาได้ในปีนี้
"growth ในปีนี้จากระดับ 500 MW ขึ้นมาเป็น 1,000 MW เป็น growth capacity 100% และปีหน้าก็จะโตอีก 100% ในแง่ production แต่หลังจาก 2 ปีนี้มาแล้วพอขยะเข้ามา การ growth ในแง่ capacity กับ revenue จะไม่ match เพราะขยะ 1 MW อาจจะเท่ากับโซลาร์ 5 MW เพราะโซลาร์จ่ายไฟได้ 5 ชั่วโมงถึง 5 ชั่วโมงครึ่งต่อวัน แต่ขยะจ่ายไฟได้ 24 ชั่วโมง...ภายในปีครึ่งถึงสองปีของขยะเริ่มเข้ามาแล้ว growth ของ revenue อาจจะโตมากกว่า capacity ในแง่กำไรช่วง 2 ปีนี้อาจจะโตมากกว่าปีละ 100% เพราะเราจะ run ที่ 675 เมกะวัตต์ หรือ run ที่ 1,000 เมกะวัตต์ ต้นทุน fix cost ไม่ต่างกัน ยิ่ง run มากก็จะได้ economy of scale"นายจอมทรัพย์ กล่าว
นายจอมทรัพย์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน กลุ่ม SUPER มีกำลังผลิตไฟฟ้าที่เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว (COD) 675.9 MW ใน 106 โครงการ จาก PPA ในมือที่มีอยู่ 713 MW ซึ่งเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) ทั้งหมด ขณะที่ยังคงเหลือ PPA อีกราว 37 MW ที่ยังไม่ได้ COD แบ่งเป็น โครงการโซลาร์ฟาร์มที่อยู่ระหว่างยื่นอุทธรณ์ PPA หลังมีปัญหาด้านเอกสาร จำนวน 19 MW คาดว่าจะเสร็จได้ในปลายปีนี้ และโครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ 18 MW ซึ่งจะต้อง COD ภายในปีนี้
ขณะที่ยังคงเป้า PPA ปีนี้ที่ระดับ 1,000 MW โดยจะต้องหา PPA เพิ่มอีกราว 287 MW คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนอย่างต่ำ 1.2-1.3 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการเข้าร่วมทุนหรือซื้อกิจการทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการลงทุนเองด้วย และสำหรับเป้าหมายที่จะเพิ่ม PPA อีก 1,000 MW ในปีหน้าเพื่อให้มี PPA เพิ่มเป็น 2,000 MW นั้น จะต้องใช้เงินลงทุนอย่างต่ำ 5 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ การจัดหาแหล่งเงินทุนเชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหา เนื่องจากการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าราว 675 MW นั้นจะสร้างรายได้ราว 400 ล้านบาท/เดือน ซึ่งจะทำให้มีฐานะทางการเงินที่ดีขึ้นและจะเห็นการเติบโตของกำไรได้ชัดเจนในช่วงไตรมาส 3/59 หลังจากที่การเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.
นายจอมทรัพย์ เชื่อว่าเมื่องบการเงินของบริษัทมีความแข็งแรงแล้ว ก็จะทำให้สามารถใช้กลไกทางการเงินอื่น ๆ เข้ามารองรับการหาแหล่งเงินลงทุนได้ทั้งในรูปแบบของการออกหุ้นกู้ หรือการกู้เงินที่ปัจจุบันบริษัทใช้เงินกู้จากธนาคารกรุงเทพ (BBL) เป็นหลัก ภาระหนี้ราว 2.5 หมื่นล้านบาท อายุหนี้ 12 ปี ขณะเดียวกันก็ยังมีธนาคารอื่นให้ความสนใจจะสนับสนุนทางการเงินเพิ่มเติมด้วย ทั้งธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ,ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ,ธนาคารทหารไทย (TMB) โดยบริษัทมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 2.75 เท่า รวมถึงยังมีใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ (วอร์แรนต์) ชุดที่ 3 ที่กำหนดแปลงสภาพไตรมาส 1/60 คาดว่าจะได้รับเงินเข้ามาราว 8 พันล้านบาทด้วย
สำหรับแผนการมองหา PPA ในมือเพิ่มเติมนั้นจะมาจากทั้งในและต่างประเทศ โดยต่างประเทศนั้นมองหาโอกาสการลงทุนทั้งในญี่ปุ่น , จีน ,ออสเตรเลีย ,อินเดีย รวมถึงกลุ่ม CLMV ทั้งกัมพูชา,ลาว,เมียนมา และเวียดนาม คาดว่าจะเห็นการลงทุนแห่งแรกในโครงการโซลาร์ฟาร์มญี่ปุ่นช่วงปลายปีนี้ หลังจากต้นปีลงนามในบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น (MOU) กับพันธมิตรญี่ปุ่นเพื่อทำโครงการโซลาร์ฟาร์มไปแล้วราว 300 MW
ส่วนการลงทุนในประเทศนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาเข้าร่วมทุนโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะอุตสาหกรรม ขนาด 10 MW ใน จ.สระแก้ว เป็นโรงไฟฟ้าที่มี PPA อยู่แล้วและมีกำหนด COD ในปี 61 คาดว่าการเจรจาจะได้ข้อสรุปในไตรมาส 3/59 โดยมีมูลค่าลงทุนราว 1.3 พันล้านบาท ประเมินการสร้างรายได้ราว 50-55 ล้านบาท/MW/ปี ซึ่งคืบหน้าของโครงการล่าสุดคือทำประชาพิจารณ์เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะยื่นขอ PPA ผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมที่รัฐบาลกำลังจะเปิดในช่วงเดือน ส.ค.นี้จำนวน 50 MW คาดหวังว่าจะได้รับส่วนแบ่งโครงการนี้ราว 50-60% บริษัทมีแผนจะใช้เทคโนโลยีจากสวีเดน รวมถึงมีแผนจะยื่นประมูลขายไฟฟ้าจากพลังงานขยะชุมชนที่รัฐบาลจะเปิดในระยะต่อไปด้วย โดยบริษัทมีความพร้อมที่จะลงทุนได้ทั้งหมดจากที่รัฐบาลจะเปิดรับซื้อ 120 MW ซึ่งบริษัทจะใช้เทคโนโลยีจากญี่ปุ่น
ขณะเดียวกัน บริษัทได้เจรจากับหน่วยงานราชการหลายแห่ง เพื่อเข้าเป็นผู้สนับสนุนโครงการผลิตไฟฟ้าโซลาร์ส่วนราชการที่รัฐบาลจะเปิดรับซื้อในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าด้วย รวมถึงมองโอกาสที่จะเข้าเจรจาร่วมทุนกับกลุ่มโซลาร์สหกรณ์ ที่ได้ PPA มาแล้วด้วย นอกเหนือจากที่บริษัทได้รับ PPA จากงานโซลาร์สหกรณ์มาแล้ว 18 MW ตลอดจนมองโอกาสที่จะทำโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในไทยในอนาคต หากรัฐบาลจะเปิดรับซื้อเพิ่มเติมด้วย
ทั้งนี้ หากบริษัทจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากกว่าแผนที่วางไว้ ก็มีโอกาสที่จะระดมทุนเพิ่มเติมด้วยการนำบริษัท ซุปเปอร์ โซล่าร์ เอนเนอร์ยี จำกัด (SSE) เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯต่อไปด้วย คาดว่าจะมีความชัดเจนในปลายปีนี้
"ก็ดูกันอยู่สำหรับซุปเปอร์ โซล่าร์ เอนเนอร์ยี และดู sentiment ธุรกิจอื่นด้วยว่าจะโตตามแผนที่เราวางไว้...ถ้าเป็นแบบที่เราวางไว้ ปลายปีเรา hit ที่ 1,000 MW และมี backlog อีก 300-400 MW ก็น่าจะเห็นความชัดเจนได้ ถ้าโตแบบที่เราวางแผนไว้ เงินระดมทุนไม่มีปีญหาอะไรเพราะเราจะมีวอร์แรนต์ ชุดที่ 3 เข้ามา แต่ถ้าโตเร็วกว่าที่เราคิด เราก็อาจจะมี option ของการ spin off ออกไป เพราะวันนี้เราบอกที่ระดับ 1,000 MW เล็กนิดเดียวถ้าเทียบกับ demand ของโลก"นายจอมทรัพย์ กล่าว
นายจอมทรัพย์ กล่าวอีกว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในปีนี้คาดว่าจะมีพลิกมีกำไรสุทธิ จากที่ขาดทุนสุทธิในปีก่อนที่ระดับ 712.52 ล้านบาทซึ่งเป็นผลจากการมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากหลังการทยอยเข้าร่วมทุนในโครงการโรงไฟฟ้า ขณะที่ในช่วงไตรมาส 1/59 บริษัททำกำไรสุทธิได้แล้ว 17.65 ล้านบาทตามการทยอย COD โรงไฟฟ้า และไตรมาส 3/59 คาดว่ากำไรจะมากกว่าไตรมาส 2/59 จากการที่ทยอย COD เพิ่มเติมมากขึ้นในช่วงเดือนพ.ค.และมิ.ย. อีกทั้งคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายลดลงด้วย
บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่กว่า 1 พันล้านบาท จากหลายแนวทางทั้งการนำกำไรมาทยอยล้างขาดทุนสะสม หรือการนำส่วนเกินมูลค่าหุ้นมาชดเชยขาดทุนสะสม ซึ่งจะสามารถล้างได้หมดทันที โดยหากใช้แนวทางดังกล่าวก็อาจจะต้องเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติในปีนี้ โดยเมื่อล้างขาดทุนสะสมแล้วก็จะทำให้บริษัทมีโอกาสจ่ายปันผลได้
"ถ้าเราอยากจะล้างขาดทุนสะสมได้เร็วกว่านั้น ก็มี option ที่จะนำเสนอบอร์ด ก็มีการพูดคุยกันในฝ่ายบริหารว่าจะสามารถนำเสนอบอร์ดขอล้างขาดทุนสะสมได้เลย โดยนำส่วนเกินมูลค่าหุ้นมาใช้ เรายังคุยกันอยู่ ถ้าบอร์ดอนุมัติก็ต้องไปที่ประชุมผู้ถือหุ้น เราก็กำลังดูกันอยู่ว่าอาจจะต้องมีประชุมผู้ถือหุ้น เพราะถ้ามี acquisition เข้ามาก็อาจจะต้องมีประชุมผู้ถือหุ้น ก็ถือโอกาสตรงส่วนนี้ไปเลย ถ้าไม่มีก็ต้องไปรอ AGM ปีหน้า...คิดว่าเราน่าจะมีประชุมผู้ถือหุ้นในปีนี้ เพราะว่าเราก็มี growth ที่ตั้งเป้าหมายไว้หรืออีกประมาณ 287 MW ก็จะมาจาก acquisition เพราะถ้าจะรอไลเซ่นส์อย่างเดียวไม่รู้ว่ารัฐบาลจะออกมาเมื่อไหร่ คงจะต้องมีประชุมถ้าเป็นไปตามแผน"นายจอมทรัพย์ กล่าว
นายจอมทรัพย์ กล่าวอีกว่า สำหรับการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนตามกำลังการผลิตไฟฟ้านั้น แม้ปัจจุบันจะยังไม่สามารถรับรู้ส่วนแบ่งกำไรได้ทั้งหมด 675 MW ที่ COD แล้วก็ตาม แต่กลุ่มบริษัทก็รับรู้ส่วนแบ่งกำไรเป็นส่วนใหญ่ตามสัดส่วนการถือหุ้น และเชื่อว่าสัดส่วนการลงทุนในโครงการเหล่านั้นจะเพิ่มขึ้นในระยะต่อไปหลังจากที่พันธมิตรบางรายอาจจะหันมาถือหุ้นใน SUPER แทนการถือหุ้นในบริษัทที่เป็นผู้ดำเนินโครงการดังกล่าว