นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า ยอดสินเชื่อบุคคลทั้งแบบมีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน (ไม่รวมบัตรเครดิต) คิดเป็นยอดปล่อยใหม่ในครึ่งปีแรกของปีนี้อยู่ที่ 9.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จากปีที่แล้ว ส่วนครึ่งปีหลังตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่อีก 1.2 หมื่นล้านบาท โดยจะทำให้ยอดสินเชื่อคงค้างรวมของสินเชื่อบุคคลเพิ่มเป็นราว 8 หมื่นล้านบาทในสิ้นปี 59 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายสินเชื่อที่จะเติบโตตามเป้าที่ 12% ถือว่าดีกว่าภาพรวมของตลาดสินเชื่อที่เติบโตเพียง 5-6% ในปีนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าธนาคารมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ธนาคารได้เริ่มบริการขอสินเชื่อบุคคลผ่านช่องทางเว็บไซต์ของธนาคารเมื่อปลายปีก่อน และได้รับผลตอบรับที่ดี โดยปัจจุบันมียอดสมัครเข้ามาแล้ว 5,000 รายต่อเดือน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 6-7% ของยอดสมัครสินเชื่อบุคคลทุกช่องทาง และธนาคารคาดว่ายอดสมัครสินเชื่อบุคคลออนไลน์จะเพิ่มเป็น 10,000 รายต่อเดือน หรือคิดเป็น 10% ของยอดสมัครทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้ และธนาคารอยู่ระหว่างการพัฒนาเว็บไซต์สำหรับการขอสินเชื่อบ้านออนไลน์ เพราะเห็นแนวโน้มการเข้าหาข้อมูลซื้อบ้านมือสองรวมถึงการหาข้อมูลเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยผ่านเว็บไซต์มากขึ้น
ด้านบัตรเครดิตของธนาคารปัจจุบันมีลูกค้าถือบัตรเครดิต 40,000 ราย เฉพาะลูกค้าใหม่ครึ่งแรกของปีนี้จำนวน 12,500 ราย และมีเป้าหมายขยายฐานบัตรเครดิตเพิ่มเป็น 60,000 ราย ภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 1 พันล้านบาท คิดเป็นยอดใช้จ่ายเฉลี่ยผ่านบัตรราว 5,000 บาท/บัตร/เดือน ส่วนยอดสินเชื่อคงค้างผ่านบัตรเครดิตคาดว่าจะเพิ่มถึง 50% เป็น 1 พันล้านบาท ภายในสิ้นปีนี้ จากปัจจุบันยอดสินเชื่อคงค้างของบัครเครดิตในครึ่งปีแรกอยู่ที่ 500 ล้านบาท
เงินฝากในครึ่งปีแรกของธนาคารมียอดเงินฝากใหม่จำนวน 1.08 แสนล้านบาท เกินเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 1.03 แสนล้านบาท และใกล้เคียงเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งเป้าระดมเงินฝากไหม่เข้ามา 1.07 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโต 4% จากปี 58 โดยกลยุทธ์ของการระดมเงินฝากจะมุ่งเน้นการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ควบคู่ไปกับการนำเสนอเงินฝากที่มาพร้อมสิทธิประโยชน์ที่ให้ผลตอบแทนและความพึงพอใจสูงสุดแก่ลูกค้า
สำหรับแนวโน้มระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสินเชื่อรายย่อยในครึ่งปีหลังยังมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอยู่ แต่เป็นการเพิ่มขึ้นแบบชะลอตัว โดยปัจจุบัน NPL ของรายย่อยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.2% จากต้นปีอยู่ที่ 3% และแนวโน้มสิ้นปีนี้คาดว่า NPL ของสินเชื่อรายย่อยจะไม่เกิน 4% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่มีการชะลอตัวอยู่ในปัจจุบัน ส่งผลกระทบไปถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า
ด้านรายได้ค่าธรรมเนียมของธุรกิจรายย่อยของธนาคารนั้น มั่นใจว่าจะทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 900 ล้านบาท จากปีก่อนที่ 800 ล้านบาท แม้ว่าในครึ่งปีแรกของปีนี้รายได้ค่าธรรมเนียมของธุรกิจรายย่อยของธนาคารจะทำได้ที่ 310 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ค่าธรรมเนียมจากการขายประกัน 170 ล้านบาท และรายได้ค่าธรรมเนียมจากการให้บริการด้านการลงทุนของลูกค้ารายย่อย เช่น การจำหน่ายตราสารหนี้และการจำหน่ายหุ้นกู้ ซึ่งทำรายได้ได้ 140 ล้านบาท ในครึ่งปีแรก
อย่างไรก็ตาม ธนาคารคาดแนวโน้มของรายได้การให้บริการด้านการลงทุนลูกค้ารายย่อยจะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังมากกว่าครึ่งปีแรก จากแนวโน้มของตลาดทุนที่มีทิศทางที่ดีขึ้นหลังครึ่งปี โดยเฉพาะการออกหุ้นกู้ในช่วงครึ่งปีหลังที่จะมีการออกหุ้นกู้มูลค่ามากกว่า 1 หมื่นล้านบาท จากครึ่งปีแรกมีการออกหุ้นกู้มูลค่าอยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท
โดยในครึ่งปีหลังกลุ่มธุรกิจที่จะมีการออกหุ้นกู้ ได้แก่ ธุรกิจพลังงาน และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ ในเรื่องของกองทุนจะได้รับความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะกองทุนที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่มีความผันผวนต่ำและให้ผลตอบแทนที่ดี คาดว่าจะได้รับการตอบรับจากลูกค้าของธนาคารเป็นอย่างดี