KBANK ปรับคาดการณ์ค่าเงินบาทสิ้นปีเป็น 36.20 จากเดิม 37 บาท/ดอลลาร์มองเฟดตรึงดอกเบี้ย-ร่างรธน.ผ่าน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 12, 2016 15:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับประมาณการค่าเงินบาทในปีนี้แข็งค่าขึ้นเป็น 36.20 บาท/ดอลลาร์ จากประมาณการเดิมที่ 37.00 บาท/ดอลลาร์ เป็นผลมาจากการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 2-3 ครั้งในปีนี้ อีกทั้งปัจจัยในประเทศ คือ ผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้น หากผลออกมารับร่างรัฐธรรมนูญก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เพราะเป็นการเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม จะต้องจับตาเรื่องการที่ค่าเงินหยวนของจีนจะเข้าสู่การเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดในช่วงเดือนตุลาคมนี้ จากเดิมที่ธนาคารกลางจีนเป็นผู้กำหนดค่าเงินหยวนเอง ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะสร้างความผันผวนให้ค่าเงินในระยะหนึ่ง หลังจากที่ค่าเงินจีนเป็นไปตามกลไกตลาด

ส่วนกระแสเงินทุนจากต่างชาติในช่วงที่ผ่านมาถือว่าเข้ามามากขึ้น โดยจะเห็นได้จากการถือครองพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ของนักลงทุนต่างชาติที่เพิ่มเป็น 1.3 แสนล้านบาท จากต้นปีมีการถือครองอยู่ที่ 8 พันล้านบาท เนื่องจากส่วนต่างของผลตอบแทนพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยยังอยู่ในระดับดีที่ 1% เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 1.5% สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐที่ 0.38% ส่วนต่างดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่นักลงทุนต่างชาติมองว่าเหมาะสม และแนวโน้มหลังจากนี้คาดว่านักลงทุนต่างชาติจะยังถือครองในระดับดังกล่าวต่อไป หากธนาคารกลางสหรัฐไม่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย

สำหรับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ยังมองว่ายังขยายตัวได้ 3% โดยแนวโน้มจีดีพีไตรมาส 3/59 คาดว่าจะเติบโตในระดับเกือบ 3% หรือ 3% จากปัจจัยหนุนเรื่องการลงทุนภาครัฐ การท่องเที่ยว และรายได้ของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้น หลังจากปัญหาภัยแล้งเริ่มคลี่คลาย และราคาสินค้าเกษตรเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการส่งออกยังเป็นปัจจัยที่กดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกสิกรไทยได้ปรับลดประมาณการส่งออกของไทยปีนี้ลดลงเป็นติดลบ 2% จากเดิม 0% เนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจไนจีนซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของไทยยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ประเด็นที่อังกฤษจะออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (Brexit) ส่งผลกดดันต่อภาคการส่งออกไปยังยุโรป เนื่องจากกรณีดังกล่าวยังไม่มีความแน่นอนของข้อตกลงการที่อังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะหนึ่ง ทำให้ในปัจจุบันผู้ประกอบการส่งออกต่างรอดูท่าทีของเรื่องดังกล่าว และทำให้การส่งออกไปยังยุโรปชะลอตัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ