นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ปรับเป้าหมายมูลค่าการออกตราสารหนี้ระยะยาวปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 6 แสนล้านบาท จากเดิมคาดไว้ที่ 5.2-5.5 แสนล้านบาท เนื่องจากช่วงครึ่งปีแรกมีมูลค่าการออกตราสารหนี้ระยะยาวเพิ่มสูงขึ้นถึง 25% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่ารวม 3.11 แสนล้านบาท เป็นผลมาจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวลดลง โดยตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับ BBB ช่วงต้นปีนี้กำหนดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 3.86% ลดลงจากปีก่อนที่ 4.19% ขณะที่ดอกเบี้ยของตราสารหนี้ที่ไม่มีการจัดอันดับเครดิตช่วงต้นปีอยู่ที่ 4.97% จากปีก่อนอยู่ที่ 5.11%
ประกอบกับสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่ความต้องการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ยังมีมากขึ้น ทำให้บริษัทต่างๆหันมาออกตราสารหนี้สูงมากขึ้น
สำหรับแนวโน้มทิศทางอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ (Bond Yield) ในช่วงครึ่งหลังของปี 59 มองว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นมีแนวโน้มทรงตัวตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบายที่คาดว่าจะคงอยู่ในระดับ 1.5% ในช่วงที่เหลือของปี ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี น่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่ยังจะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำโดยการปรับขึ้นของ Yield น่าจะเป็นไปอย่างจำกัดเนื่องจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงผลกระทบของการลงประชามติของสหราชอาณาจักรในการออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ต่อเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ ทั้งนี้ Yield อาจผันผวนเป็นบางช่วงตามปัจจัยภายนอกประเทศเป็นหลัก
นายธาดา กล่าวว่า ช่วงที่ประเทศอังกฤษมีมติโหวตให้ออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ยังต้องใช้ระยะเวลาถึง 2 ปี กว่าจะได้ข้อสรุป ส่งผลให้เศรษฐกิจในสหภาพยุโรปคงยังไม่ฟื้นตัวได้ในเร็วๆนี้ ทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาค่อนข้างมาก และหากประเทศไทยสามารถผ่านการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญไปได้จะส่งผลให้เงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง เพราะประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนพันธบัตรในระดับที่ดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) นั้นยังคงชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกไป เนื่องจากภาพรวมเศรษฐทั่วยังคงอ่อนไหว แต่อาจจะมีการปรับขึ้นได้อย่างมาก 1 ครั้งในช่วงปลายปี หรืออาจจะเลื่อนไปขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้าก็เป็นได้
"ตั้งแต่ช่วงต้นปีถึงปัจจุบันเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามายังตลาดตราสารหนี้ไทยแล้วกว่า 1.1 แสนล้านบาท และหากรัฐธรรมนูญผ่านประชามติได้เชื่อว่าจะเข้ามาอีกต่อเนื่อง ซึ่งประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่ให้ผลตอบแทนได้ค่อนข้างดี ในส่วนของเงินทุนของไทยที่ไปลงทุนต่างชาติก็เริ่มไหลกลับเข้ามา ทำให้ความต้องการตราสารหนี้สูง ขณะที่ธนาคารเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ทำให้บริษัทต่างๆหันมาออกตราสารหนี้มากขึ้น ซึ่งในช่วงที่เหลือของปีนี้มีมีบริษัทที่เตรียมการออกตราสารหนี้แล้ว 1.2 แสนล้าน และบริษัทที่มีวงเงินเหลือสามารถออกได้อีก 8 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังมีบริษัทอื่นๆที่เตรียมออกอีกแต่ยังไม่สามารถระบุมูลค่าได้"นายธาดา กล่าว
ทั้งนี้ ภาพรวมของตลาดตราสารหนี้ไทยในครึ่งแรกปี 59 ว่า กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund flow) พบว่า นักลงทุนต่างชาติมีการลงทุนในตราสารหนี้ไทยเพิ่มขึ้นถึง 113,218 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการถือครองเพิ่มขึ้นในตราสารหนี้ระยะสั้น 74,714 ล้านบาท ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นตราสารหนี้ระยะสั้นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และถือครองเพิ่มขึ้นในตราสารหนี้ระยะยาว 19,124 ล้านบาท ทำให้ยอดการถือครองตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติสูงขึ้นเป็น 719,599 ล้านบาท ณ 30 มิ.ย.59
ขณะที่ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ของไทยยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าคงค้างรวมเพิ่มขึ้น 3.76% จากสิ้นปีที่แล้วมาอยู่ที่ 10.40 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือน มิ.ย.59 และมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเท่ากับ 97,644 ล้านบาท/วัน เพิ่มขึ้น 20.7% จากปีที่ผ่านมา
ด้านการระดมทุนของภาคเอกชน (เฉพาะที่ขึ้นทะเบียนกับ ThaiBMA) ผ่านตลาดตราสารหนี้ พบว่า ในขณะที่การออกตราสารหนี้ระยะสั้นมีมูลค่าใกล้เคียงกับครึ่งแรกของปีก่อน โดยมีมูลค่าการออก 436,503 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% แต่มูลค่าการออกตราสารหนี้ระยะยาวเพิ่มสูงขึ้นถึง 25% โดยมีมูลค่าการออกรวม 311,747 ล้านบาท
ส่วนจำนวนบริษัทผู้ออกตราสารหนี้รวม 277 บริษัท เป็นผู้ออกตราสารหนี้ระยะยาว 98 บริษัท และระยะสั้น 179 บริษัท โดยจำนวนผู้ออกรวมเพิ่มขึ้นถึง 51 บริษัทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ เป็นผู้ออกรายใหม่ (Newcomer) สูงถึง 46 บริษัท (ระยะยาว 22 บริษัท และ ระยะสั้น 24 บริษัท) สะท้อนให้เห็นความต้องการระดมทุนที่ยังมีอย่างต่อเนื่องของภาคเอกชนในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับต่ำ
ด้านการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรองในช่วงครึ่งแรกของปี มูลค่าซื้อขายตราสารหนี้เฉลี่ยรายวันเท่ากับ 97,644 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 20.7% จากปีก่อน โดยตราสารหนี้ภาคเอกชนมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเท่ากับ 4,258 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 28% จากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมาซึ่งสอดคล้องกับมูลค่าการออกที่เพิ่มขึ้นในตลาดแรก
นายธาดา กล่าวว่า ความต้องการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ที่เพิ่มมากขึ้นจากทั้งนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนในประเทศ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะกลางและยาวปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดย ณ 30 มิ.ย.59 Yield ของพันธบัตรระยะสั้นถึงกลาง (อายุคงเหลือน้อยกว่า 5 ปี) ปรับตัวลดลงในช่วง 4-23 Basis points ในขณะที่ Yield ของพันธบัตรระยะยาว (อายุคงเหลือตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป) ปรับตัวลงในช่วง 41-89 Basis points เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อน ทั้งนี้ Bond Yield 10 ปีปรับลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ (1.53%) เมื่อวันที่ 5 เม.ย.59