PTT ยันค่าเงินผันผวนจาก Brexit ไม่กระทบ, คงแผนลงทุน 5 ปีแม้ราคาน้ำมันยังลง

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 13, 2016 12:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บมจ.ปตท.(PTT) เชื่อว่า ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดจากกรณีที่อังกฤษลงประชามติจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) จะมีผลกระทบต่อ ปตท.ไม่มาก แม้จะมีหนี้สกุลดอลลาร์ถึงราว 30% ก็ตาม เนื่องจาก ปตท.มีการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนในลักษณะประกันความเสี่ยงโดยธรรมชาติ (Neutral hedge) เพราะมีรายได้และกำไรอิงอัตราแลกเปลี่ยนพอสมควร และมีการกู้เงินสกุลดอลลาร์ในปริมาณใกล้เคียงกัน

ส่วนรายได้และกำไรที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ปตท.ก็มีการบริหารจัดการให้มีความเหมาะสมกับหนี้สกุลเงินที่มีอยู่ ซึ่งช่วยลดความผันผวนได้อยู่แล้ว

นอกจากนี้ การที่กลุ่ม ปตท.มีเงินสดในมือจำนวนมากกว่า 3 แสนล้านบาทก็ยังมองโอกาสในการลงทุนเพิ่มเติม รวมถึงการซื้อคืนหุ้นกู้สกุลดอลลาร์บางส่วนด้วย โดยกำลังพิจารณาโอกาสที่เหมาะสม ซึ่งการซื้อหุ้นกู้สกุลดอลลาร์นั้นขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐด้วย หากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็จะทำให้ราคาหุ้นกู้ลดลงตามไปด้วย ทำให้สามารถซื้อคืนได้ในราคาไม่แพง

นายวิรัตน์ กล่าวอีกว่า ปตท.ไม่มีนโยบายชะลอการลงทุนแม้ราคาน้ำมันจะยังคงปรับลดลง โดยยังวางแผนลงทุน 5 ปี (ปี 59-63) ที่ระดับ 2.97 แสนล้านบาท แต่การปรับลดงบลงทุนในปี 59 ลงไปเหลือ 4.33 หมื่นล้านบาท จากเดิม 5.08 หมื่นล้านบาทนั้น เป็นผลจากการประเมินการลงทุนที่เข้มงวดมากขึ้นเท่านั้น และบางโครงการชะลอระยะเวลาจ่ายเงินออกไปในกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติและโครงสร้างพื้นฐาน แต่ภาพรวมยังคงเป็นไปตามแผนการลงทุน 5 ปีดังกล่าว

ขณะที่ยืนยันว่าแม้ราคาน้ำมันจะอยู่ในระดับต่ำ แต่ผลประกอบการของ ปตท.จะยังคงแข็งแกร่ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ปตท.มีโครงสร้างธุรกิจที่หลากหลายตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งปีที่แล้วธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีดี แม้ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจะไม่ดี แต่ปีนี้ธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมีอาจจะอ่อนตัวลง แต่ธุรกิจก๊าซฯยังคงแข็งแกร่ง และราคาน้ำมันที่ลดลงยังเป็นโอกาสของการลงทุนอีกหลายด้านด้วย

นอกจากนี้ปตท.ยังมองโอกาสลงทุนเพิ่มเติมในมาเลเซียเพื่อขยายเครือข่ายจากปัจจุบันมีการลงทุนท่อส่งก๊าซฯไทย-มาเลเซียอยู่แล้ว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ