NDR คาดกำไรปีนี้ดีกว่าปีก่อนตามยอดขายเพิ่ม-ต้นทุนลด,คาดอัตรากำไรสุทธิกว่า 6% จากราว 5%

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 13, 2016 15:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยสิทธิ์ สัมฤทธิวณิชชา กรรมการผู้จัดการ บมจ.เอ็น.ดี.รับเบอร์ (NDR) คาดว่า กำไรสุทธิปีนี้จะดีกว่าระดับ 34.19 ล้านบาทในปีที่แล้ว ตามยอดขายที่ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 พันล้านบาท จากปีก่อนที่ทำได้ 792 ล้านบาท หลังมีคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้น ประกอบกับออกสินค้าใหม่และรุกตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่คาดว่าต้นทุนการผลิตจะลดลง โดยเฉพาะต้นทุนค่าไฟฟ้า หลังทำโครงการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงงาน (โซลาร์รูฟ) ขนาด 1 เมกะวัตต์สำหรับใช้ในโรงงานจะเริ่มทดลองผลิตในเดือนก.ย.59 ส่วนต้นทุนวัตถุดิบยางพารายังเชื่อว่าจะอยู่ในระดับทรงตัว

สำหรับกำไรสุทธิในไตรมาส 2/59 คาดว่าน่าจะดีขึ้นจากไตรมาส 1/59 ที่ทำได้เพียง 4.65 ล้านบาท เนื่องจากมียอดขายเพิ่มขึ้น และจะไม่มีการบันทึกค่าใช้จ่ายจากการผลิตสินค้าใหม่ AIR LOCK ที่ใช้ทดแทนยางในเหมือนเช่นในไตรมาสแรก

"กำไรปีนี้โตจากยอดขายที่เพิ่มขึ้น และเราก็ส่งออกไปเพิ่มขึ้นด้วย...ปีนี้ตลาดในมาเลเซียทรงๆ ส่วนอินเดียมี growth จากโมเดลใหม่ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น ส่วนตลาดไทยปีนี้ดีขึ้นกว่าปีที่แล้วเพราะปีที่แล้วเจอปัญหาภาวะเศรษฐกิจโลก ภัยแล้ง กำลังซื้อหด แต่ปีนี้ไตรมาสแรกเจอกับภัยแล้ง แต่ไตรมาส 2 และ 3 ก็เริ่มกลับมา รากหญ้าก็มีเงินหมุนเวียนมากขึ้น"นายชัยสิทธิ์ กล่าว

นายชัยสิทธิ์ กล่าวว่า ปีนี้บริษัทเพิ่มการขายทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ทำให้สัดส่วนการขายในประเทศและส่งออกอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่แล้วที่ 50:50 โดยมีประเทศที่ส่งออกสำคัญ คือมาเลเซีย รองลงมาเป็นอินเดีย ,เมียนมา,ลาว ,ฟิลิปปินส์ ,ตะวันออกกลาง ,อเมริกาใต้ เป็นต้น ซึ่งการออกสินค้าใหม่ AIR LOCK เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมานับว่าได้รับการตอบรับที่ดี และยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมาร์จิ้นด้วย โดยจะเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้อัตรากำไรสุทธิปีนี้เพิ่มขึ้นมาที่กว่า 6% ในปีนี้จากราว 5% ในปีที่แล้ว

ในช่วงครึ่งหลังปีนี้บริษัทจะยังไม่ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่จะเน้นการทำตลาดของ AIR LOCK เพื่อเพิ่มปริมาณขายให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังรุกทำตลาดสินค้าเดิมเพิ่มเติมด้วย ล่าสุดมีคำสั่งซื้อโมเดล 2 รุ่นใหม่จากลูกค้าอินเดีย คาดว่าจะจัดส่งได้ในไตรมาส 3/59 ซึ่งจะรับรู้รายได้จากงานดังกล่าวราว 4-5 ล้านบาท/เดือน

ทั้งนี้ คำสั่งซื้อที่มีเข้ามาต่อเนื่อง ก็ยังช่วยผลักดันให้มีอัตราการใช้กำลังการผลิตในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็นระดับ 75-80% จากปีที่แล้วที่ใช้อัตรากำลังการผลิตในระดับ 70% โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตเต็มที่สำหรับยางนอกรถจักรยานยนต์ 3.5 ล้านเส้น/ปี และยางในรถจักรยานยนต์ 7 ล้านเส้น/ปี

นายชัยสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ตลาดยางรถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่จะใช้ในกลุ่มการเปลี่ยนใหม่ทดแทนของเดิม (replace) มากกว่าตลาดรถจักรยานยนต์ใหม่ ซึ่งในปีนี้คาดว่าตลาดรถจักรยานยนต์ใหม่จะทรงตัวจากปีที่แล้วที่ระดับ 1.7 ล้านคัน นอกจากนี้บริษัทยังมองโอกาสการขยายไปยังตลาดยางรถขนาดใหญ่ด้วย แต่ยังไม่มีความชัดเจนในขณะนี้

สำหรับการผลิตไฟฟ้าตามโครงการโซลาร์รูฟท้อปที่จะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 3/59 นั้น คาดว่าช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ราว 5 แสนบาท/เดือน โดยในปีนี้จะได้รับประโยชน์แค่เพียงไตรมาสเดียว แต่จะได้รับประโยชน์มากขึ้นในปีหน้าที่จะช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ราว 6 ล้านบาท/ปี นอกจากนี้การที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ทำให้สามารถขอเคลมภาษีได้ครึ่งหนึ่งของเงินลงทุนหรือคิดเป็นวงเงินราว 22.5 ล้านบาทภายในเวลา 3 ปีด้วย ซึ่งในส่วนนี้ก็จะช่วยหนุนกำไรสุทธิให้เพิ่มขึ้นด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ