นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชั่น (AMATA) เปิดเผยว่า บริษัทจะรุกงานบริการสาธารณูปโภคและบริการด้านต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงบริการด้านอาหารและจัดเลี้ยงภายในนิคมอุตสาหกรรม พร้อมศึกษาการจัดตั้งครัวกลาง (Central Kitchen) และยังมองโอกาสการขยายธุรกิจดังกล่าวไปยังนิคมฯของกลุ่มอมตะในเวียดนามในอนาคตด้วย
ทั้งนี้ การดำเนินการด้านงานบริการดังกล่าวอยู่ภายใต้บริษัท โซเด็กซ์โซ่ อมตะ เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งบริษัท อมตะ ฟาซิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด ในกลุ่ม AMATA ถือหุ้นอยู่ 40% ร่วมกับบริษัท โซเด็กซ์โซ่ ประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการบริหารจัดการแบบครบวงจรจากฝรั่งเศส ถือหุ้น 60% โดยโซเด็กซ์โซ่ อมตะฯ วางเป้าหมายจะมีรายได้ 110 ล้านบาทในปี 60 และเพิ่มเป็น 240 ล้านบาทในปี 61 ก่อนจะขยับขึ้นแตะ 1 พันล้านบาทในปี 63
สำหรับ บริษัท โซเด็กซ์โซ่ อมตะ เซอร์วิสเซส ตั้งอยู่ในนิคมฯอมตะนคร และนิคมฯอมตะซิตี้ ซึ่งหลังเปิดตัวได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าจำนวนกว่า 20 ราย เช่น บริษัท ซูมิโตโม อีเล็คตริกไวริ่ง ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอสซีลอร์ ออพติคอล แลบอราทอรี (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไทยมาเอดะ จำกัด เป็นต้น ซึ่งการบริการของ โซเด็กซ์โซ่ อมตะ จะดูแลบริหารจัดการอาคาร การดูแลและซ่อมบำรุง บริการด้านการรักษาความปลอดภัย และบริการงานทำความสะอาด
แผนงานในปีนี้บริษัทจะจัดตั้ง Command Center เพื่อให้เป็นจุดศูนย์กลางในการบริหารจัดการพื้นที่ ภายในนิคมฯ มีการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการทำงาน เพื่อให้ลูกค้าตรวจสอบการทำงานของพนักงานได้ตลอดเวลา เพิ่มบริการจัดแต่งสวนและภูมิทัศน์ ร่วมถึงการบริการช่างซ่อมตลาด 24 ชั่วโมง โดยมูลค่าตลาดของบริการเหล่านี้ ใน 2 นิคมฯ จำนวน 820 โรงงาน มีมูลค่าสูงถึง 4,000-5,000 ล้านบาท/ปี
นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการสำรวจความต้องการในการรับบริการด้านอาหารและงานจัดเลี้ยงภายในนิคมฯ เพื่อที่จะกำหนดขนาดของการจัดตั้งครัวกลาง โดยปัจจุบันพบว่ามีความต้องการเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันในนิคมฯมีพนักงานที่ปฎิบัติงานอยู่ในสายการผลิตกว่า 1.8 แสนคน ซึ่งพนักงานจำนวนดังกล่าวมีเวลาพักที่จำกัดเพียง 1 ชั่วโมง ซึ่งไม่มีเวลาเพียงพอในการที่จะออกไปรับประทานอาหารข้างนอกได้ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเข้ามาใช้บริการกับทางบริษัท
รวมถึงยังอยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลในการที่จะขยายธุรกิจไปยังนิคมฯของอมตะ ในเวียดนาม ที่ปัจจุบันมีโรงงานอยู่ทั้งหมด 200 โรงงาน ซึ่งหากการให้บริการในประเทศไทยเริ่มนิ่งแล้ว ก็จะเห็นการขยายไปในประเทศเวียดนามเพิ่มเติม
นายวิบูลย์ กล่าวว่า ในส่วนของอัตรากำไรขั้นต้นที่เหมาะสมในธุรกิจนี้จะอยู่ที่ราว 15% แต่อย่างไรก็ตาม ช่วงแรกของการลงทุน และการขยายกิจการนั้น ยังไม่สามารถประเมินได้ แต่หลังจากนี้อีก 2-3 ปี ทุกอย่างก็จะเริ่มนิ่งและเห็นภาพผลประกอบการที่ชัดมากขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทไม่ได้ปิดโอกาสในการจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม และขนาดของบริษัทและผลประกอบการว่าจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไรจึงจะสามารถตัดสินใจได้
"มั่นใจว่าการเปิดตัวของบริษัทร่วมทุนดังกล่าว จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เอื้อประโยชน์แก่ ลูกค้าที่เข้ามาดำเนินกิจการในนิคมฯ โดยเฉพาะหลังจากที่มีการเปิดตลาด AEC มีนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาหาทำเลและขยายธุรกิจในประเทศไทย ทำให้การบริการของเราสามารถตอบโจทย์ความต้องการอย่างดีเยี่ยม พร้อมยังส่งเสริมภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมในประเทศไทยมีศักยภาพยิ่งขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปีในธุรกิจที่หลากหลาย"นายวิบูลย์ กล่าว