บล.ไทยพาณิชย์ ประเมินดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) แนวโน้มเป็นขาขึ้นแตะระดับ 1,550-1,600 จุด ตอบรับปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นจริง โดยเฉพาะแนวโน้มการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่เร่งตัวขึ้น ด้วยปัจจัยหนุนจากรายได้เกษตรกรที่แข็งแกร่งมากขึ้น ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศยังเป็นความเสี่ยงหลักของตลาดหุ้น ส่งผลให้ตลาดมีการเคลื่อนไหวแบบ Sideways ต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยไม่ถูกอีกต่อไป ซื้อขายที่ระดับพรีเมียม PE 12 เดือนข้างหน้าแกว่งตัวที่ประมาณ 14.5 เท่า
นายอิสระ อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า มองดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) สิ้นปี 59 น่าจะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1,550-1,600 จุด โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในช่วงไตรมาสแรกมีการเติบโตค่อนข้างดีหรือประมาณ 3.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสูงกว่าตลาดคาดการณ์ที่น่าจะขยายตัวได้เพียง 2.8% โดยรายได้จากการท่องเที่ยว และการลงทุนภาครัฐจะช่วยกระตุ้นแรงส่งทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มจะเร่งตัวขึ้น เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น
ทั้งนี้แม้ดัชนีจะปรับตัวขึ้นแต่การเคลื่อนไหวของตลาดยังเป็นแบบ Sideways ต่อเนื่องจากช่วงครึ่งแรกของปี เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศที่ยังคงอยู่ โดยเฉพาะความไม่แน่นอนจากกลุ่มยูโรโซน หลังจากผลการลงประชามติที่ให้ประเทศอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) เป็นการส่งสัญญาณถึงแรงกดดันระยะยาวต่อการค้าทั่วโลก ที่อาจจะต้องเผชิญกับแรงกดดันจากความเป็นชาตินิยม อนุรักษ์นิยม และการกีดกันทางการค้ามากขึ้น อีกทั้งก็มีสัญญาณว่าประเทศสมาชิกอื่นๆของสหภาพยุโรป จะทำประชามติถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปเช่นกัน ประกอบกับตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยจะต้องโฟกัสที่อุปสงค์ภายในประเทศเป็นหลัก แม้ว่าจะไม่สามารถชดเชยกับการส่งออกที่ลดลง แต่เป็นปัจจัยกระตุ้นการเติบโตเพียงอย่างเดียวที่จะสามารถรับมือกับสถานการณ์ความวุ่นวายทั่วโลก รวมถึงมีสัญญาณที่รายได้เกษตรกรจะฟื้นตัวส่งผลต่อกำลังซื้อของครัวเรือนในอนาคต
"ปัจจัยพื้นฐานที่ช่วยหนุนให้การอุปโภคบริโภคฟื้นตัว เรามองว่าจะมาจากปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้น โดยเป็นผลจากราคาน้ำมันที่น่าจะปรับตัวขึ้นได้ต่อ คาดราคาน้ำมัน ณ สิ้นปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 55 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ส่งผลดีต่อราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าเกษตรหลัก อย่าง ข้าว ยางพารา น้ำตาล เป็นต้น ขณะที่รายได้นอกภาคเกษตร ก็มีแรงขับเคลื่อนจากการส่งออก ในรูปแบบของเงินบาทที่เติบโตดี รวมถึงครม.ก็มีการมีการออกมาบอกว่าจะปรับขึ้นรายได้ขั้นต่ำ"
นายอิสระ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยถือว่ามีความโดดเด่นอยู่ จากเป็นตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนดีเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค และมี PE ในระยะ 12 เดือนข้างหน้าแกว่งตัวอยู่ที่ระดับ 14.5 เท่า ขณะเดียวกันกำไรที่ลดลงมากในปีที่ผ่านมาสร้างฐานที่ต่ำ ซึ่งจะช่วยให้กำไรเติบโตขึ้นอย่างมากในปี 59-60 โดยจะทำให้อัตราส่วน PE ต่ออัตราการเติบโตของกำไร SET น่าจะดึงดูดในเชิงเปรียบเทียบมากกว่าตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาค โดยคาดว่า EPS Growth ปีนี้จะเติบโตได้ราว 20%
ขณะที่เมื่อมองถึง Fund Flow ปัจจุบันเริ่มเห็นการซื้อสุทธิของต่างชาติบ้างแล้วประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งยังมีปริมาณการซื้อที่น้อยอยู่เมื่อเทียบกับ 3 ปีที่ผ่านมา ต่างชาติได้ขายสุทธิออกไปกว่าแสนล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามด้วยผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียนไทย , ความมีเสถียรภาพค่าเงิน เป็นต้น จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติให้เพิ่มขึ้นได้
สำหรับหุ้น Top Picks ประจำไตรมาส 3/59 แนะนำหุ้นที่อ้างอิงการเติบโตของอุปสงค์ในประเทศ โดยได้รับปัจจัยกระตุ้นจากรายได้เกษตรกรที่ดีขึ้น การเติบโตของค่าจ้าง และการเคลื่อนย้ายกำลังแรงงานมายังกลุ่มที่จ่ายค่าจ้างสูงขึ้น เช่น บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) (AEONTS) ,บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) ,บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ,บมจ.สยามโกบอลเฮ้าส์ (GLOBAL) ,บมจ.ซี.พี.เอส แมชีน กรุ๊ป โฮลดิ้ง (PCSGH) และบมจ.สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี (SAT)
อย่างไรก็ตามการลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค.59 มองว่ามีสองแง่มุม คือ หากออกมาเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็อาจจะเป็นข่าวดีของตลาด แต่หากออกมาว่าไม่เห็นด้วย อาจจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นให้ปรับตัวลดลงเล็กน้อย หรืออยู่ในระดับทรงตัว โดยมองแนวรับไว้ที่ 1,440-1,450 จุด ซึ่งไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการลงทุน เนื่องด้วยนักลงทุนก็จะกลับมามองในเรื่องของผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนมากกว่า