โบรกฯเชียร์"ซื้อ"หุ้น บมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) มองโอกาสกำไรยังจะทำจุดสูงสุดต่อเนื่องทั้งรายไตรมาส และรายปี โดยปีนี้คาดว่าจะเติบโต 40% และปี 60 เติบโตต่อเนื่องอีก 20% โดยเฉพาะจากการขยายกำลังการผลิตเฟส 3 ซึ่งจะทำให้มีกำลังผลิตเพิ่มอีก 24% หนุนการเติบโตของกำไร และจากการที่อยู่ในธุรกิจ PCB กลุ่มยานยนต์ จึงยังมองเป็นอนาคตธุรกิจจะเติบโตได้อีกมาก
ส่วนการส่งออกสินค้าไปขายในต่างประเทศ เน้นหนักที่ตลาดยุโรป ประเมินน้ำหนักผลกระทบต่อรายได้ในไตรมาส 2-4/59 จากค่าเงินยูโรอ่อน ขณะที่ดอลลาร์แข็งค่า เชื่อว่า กรณีเลวร้ายสุดกระทบราคาหุ้นที่ 4.47 บาท แต่บริษัททำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนบางส่วน และอีกบางส่วนลูกค้ายุโรปจ่ายเป็นดอลลาร์ ดังนั้น กรณีดีสุดเชื่อว่าจะกระทบราคาหุ้นเพียง 0.80 บาท
ขณะที่การขยายธุรกิจใหม่ไปสู่การผลิตและจำหน่ายเคมีภัณฑ์ที่เป็นส่วนผสมในการผลิตอาหารสัตว์ เป็นการต่อยอดจากการกำจัดของเสียในกระบวนการผลิต ซึ่งมองว่าเป็นการต่อยอดธุรกิจทางหนึ่ง
โบรกฯ คำแนะนำ ราคาพื้นฐาน(บาท) บล.กสิกรไทย ซื้อ 94 บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ซื้อ 90 บล.กรุงศรี ซื้อ 95 บล.ทรีนีตี้ ซื้อ 93.66 บล.ยูโอบี เคย์เฮียน ซื้อสะสมเมื่ออ่อนตัว 105
นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.กสิกรไทย แนะ"ซื้อ"หุ้น KCE โดยยกให้เป็นหุ้นเด่นของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ คาดกำไรสุทธิจะทำจุดสูงสุดต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 2/59 และไตรมาส 3/59 ขณะที่ปีหน้ายังมีแรงผลักดันการเติบโตระลอกใหม่จากการขยายกำลังการผลิตโรงงานลาดกระบังเฟส 3 ซึ่งจะเพิ่มกำลังการผลิตอีก 23.7% เริ่มตั้งแต่ปลายไตรมาส 3/59 เชื่อว่าจะผลักดันให้กำไรเติบโตขึ้นราว 38% ในปี 59 จากนั้นจะเติบโต 21% และ 19% ในปี 60 และปี 61 ตามลำดับ
ส่วนการลงทุนเปลี่ยนเครื่องจักรมูลค่า 250 ล้านบาทในบริษัท เคซีอี เทคโนโลยี จำกัด (KCET) เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตรวมให้เพิ่มขึ้นเป็นบวก โดยกำลังการผลิตใหม่จะพร้อมใช้งานราวต้นปี 60 และการจัดตั้งบริษัทย่อย 70 ล้านบาท เพื่อทำธุรกิจผลิตและซื้อขายสารเคมี ส่วนนี้น่าจะเป็นธุรกิจต่อยอดจากการกำจัดของเสียในกระบวนการผลิต มองเป็นการต่อยอดธุรกิจ
"กำไรสุทธิทำนิวไฮรายไตรมาส เพราะมีเรื่องของการขยายกำลังการผลิต ส่วนใช้เงินปรับปรุงเครื่องจักรไม่มาก 200-300 ล้านบาท เทียบกับเงินสดในมือเยอะ กำไรปีเกือบ 3,000 ล้านบาท แต่ถึงจะกู้ไม่เป็นไปไรเพราะดอกเบี้ยถูกมาก ส่วนบริษัทลูกที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสารเคมีก็จะทำให้โปรดักส์ที่ซื้อขายมีคุณภาพ ทำให้ธุรกิจขยายช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ดีมากขึ้น"นายประกิต กล่าว
นายวรพงศ์ ตันติวุฒิพงศ์ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี มองว่า ปี 59 กำไรของ KCE ยังเติบโตได้ 40% และปี 60 เติบโตต่อเนื่องอีก 20% มาจากกำลังผลิตของโรงงานแห่งใหม่ อีกส่วนหนึ่งมาจากอัตรากำไรขั้นต้นก้าวกระโดดขึ้นมาจากปี 58 ค่อนข้างมาก เพราะในปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการลงทุนโรงงานแห่งใหม่เฟสที่ 2 แต่ปีนี้จะเป็นปีที่ดีของ KCE โดยแนวโน้มกำไรไตรมาส 2/59 จะเติบโตจากไตรมาสกาอนหน้าและทำนิวไฮ จากนั้นะไตรมาส 3/59 ก็จะทำนิวไฮต่ออีก เพราะการขยายกำลังการผลิตของโรงงานเฟสที่ 3 จะเริ่มเปิดดำเนินการ ซึ่งจะช่วยหนุนการเติบโตของกำไรในครึ่งหลังของปีนี้ดีต่อเนื่อง
ขณะที่ปี 60 คาดว่าโรงงานเฟส 3 จะทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 24% จากปัจจุบัน ซึ่งก็จะทำให้รายได้ของบริษัทเติบโตได้อีก 2 ปีต่อเนื่อง เฉลี่ยปีละ 12-15% และหลังปี 61 บริษัทก็มีแผนที่จะสร้างโรงงานแห่งใหม่ควบคู่ไปด้วย ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตต่อเนื่องในปี 61-63
เนื่องจากไตรมาส 1/59 มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 34-35% เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่อยู่ในระดับเฉลี่ย 15-16% และมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 21% สูงกว่าทั้งปี 58 ที่ 17% และสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่อยู่ในระดับ 5-6% ดังนั้น ปีนี้ความสามารถในการทำกำไรของ KCE จะสูงมาก เพราะต้นทุนการผลิตต่ำ สามารถเกลี่ยมาร์เก็ตแชร์มาจากคู่แข่งเจ้าอื่นได้เรื่อยๆ
และต่อให้เปิดโรงงานแห่งใหม่ ยอดขายก็ยีงจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แน่นอน เพราะตลาด PCB ของยานยนต์ถูกกระทบจากปัจจัยด้านฤดูกาลค่อนข้างน้อย และเติบโตอย่างมั่นคง ซึ่งเชื่อว่า KCE จะสามารถเติบโตแซงภาพรวมอุตสาหกรรมได้ด้วยการเพิ่มส่วนแบ่งตลาด และราคาหุ้นก็น่าจะวิ่งตามกำไรที่ถูกขับเคลื่อนโดยการขยายกำลังการผลิต
นักวิเคราะห์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) มองว่า KCE มีการเติบโตของกำไรที่ดี มองธุรกิจผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ในกลุ่มออโตโมทีฟ ธุรกิจยังมีแนวโน้มสดใส บริษัทยังเติบโตต่อไปได้อีกมาก
บทวิเคราะห์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) แนะ"ซื้อสะสมเมื่ออ่อนตัว"เป้า 105 บาท จากแนวโน้มอุตสาหกรรมแผงวงจรไฟฟ้าในรถยนต์ที่สดใส มองแนวโน้มค่าเงินยูโรอ่อนจะมีผลกระทบจำกัดต่อ KCE จากการศึกษาพบว่า Correlation ระหว่างค่าเงินบาทต่อยูโรและอัตรากำไรขั้นต้นของ KCE ในช่วง 41 ไตรมาสย้อนหลังอยู่ที่ -0.29 ซึ่งสะท้อนว่าทิศทางค่าเงินยูโรไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่จะชีวัดทิศทางการดำเนินงานของผลประกอบการได้
ด้าน บล.ทรีนีตี้ แนะ"ซื้อ"หุ้น KCE เช่นกัน โดยระบุว่า ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนส่งออกไปยัง Europe ประมาณ 60% (ซึ่งมีทั้งที่รับเป็นเงิน USD และ Euro) และบริษัทมีการทำ Hedging ไว้บางส่วน
อย่างไรก็ดี บริษัทได้ลองทำผลกระทบจากค่าเงิน Euro ที่อ่อนค่าลง และได้ประโยชน์จากการแข็งค่าของเงิน USD เช่นกัน โดยคิดแบบ Worst Case สุดที่รายได้ประมาณ 60% รับเป็นเงิน Euro และที่เหลืออีก 40% รับเป็น USD ซึ่งคิดผลกระทบกรณีแล้วร้ายสุด รายได้ในไตรมาสตั้งแต่ 2-4 ของปีนี้ จะถูกกระทบประมาณ -1.4% หรือคิดเป็น EPS ที่ 0.266 บาท ซึ่งถ้าคูณด้วย Forward P/E ที่ 16.8 เท่า คิดเป็นผลกระทบต่อหุ้นประมาณ 4.47 บาท
แต่มองว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจะต่ำกว่านี้เนื่องจากรายได้ในกลุ่ม Europe มีบางส่วนที่รับเป็น USD และบริษัทมีการทำ Hedging ไว้ ซึ่งในกรณี Base Case รายได้ประมาณ 50% ของ Europe รับเป็น USD จะคิดเป็นกระทบต่อราคาหุ้นประมาณ 0.80 บาทเท่านั้น