บลจ.กสิกรไทย เสิร์ฟกอง Term fund 3 เดือนและ 6 เดือน เสนอขายต่อเนื่อง 15-25 ก.ค.นี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 15, 2016 11:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัชชัย สฤษดิ์อภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย) เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 15 - 25 กรกฎาคม 2559 บลจ.กสิกรไทยจะเปิดเสนอขายกองทุนเปิดเค เอ็นแฮนซท์ ตราสารหนี้ต่างประเทศ 6 เดือน ดีเอฟ (KEFF6MDF) ประมาณการผลตอบแทนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนคาดว่าจะได้รับที่ 1.80% ต่อปี และกองทุนเปิดเค เอ็นแฮนซท์ ตราสารหนี้ต่างประเทศ 3 เดือน เอเอ็ม (KEFF3MAM) ประมาณการผลตอบแทนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนคาดว่าจะได้รับที่ 1.65% ต่อปี

สำหรับ กองทุน KEFF6MDF ที่มีอายุโครงการ 6 เดือน เบื้องต้นคาดว่าจะเข้าไปลงทุนในเงินฝาก China Construction Bank Corporation, เงินฝาก Bank of China, เงินฝาก First Gulf Bank, ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเงินฝาก Garanti Bank, ประเทศตุรกี นอกจากนี้ยังลงทุนในตราสารหนี้ T.C. Ziraat Bankasi A.S., ประเทศตุรกี

ด้านกองทุน KEFF3MAM ที่มีอายุโครงการ 3 เดือน เบื้องต้นคาดว่าจะลงทุนในเงินฝาก China Construction Bank Corporation, เงินฝาก Agricultural Bank of China และเงินฝาก Bank of China นอกจากนี้ยังลงทุนในตราสารหนี้ Yapi Kredi Bankasi A.S. และตราสารหนี้ T.C. Ziraat Bankasi A.S., ประเทศตุรกี

ทั้ง 2 กองทุนดังกล่าวมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน และเป็นกองทุนที่เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่มีสินทรัพย์ในการลงทุนสูงและสามารถยอมรับความเสี่ยงได้มากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน โดยผู้ลงทุนต้องลงทุนด้วยเงินขั้นต่ำ 1,000,000 บาท

บลจ.กสิกรไทย ยังได้เพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนต่อเนื่องให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนกับกองทุนตราสารหนี้แบบที่มีกำหนดอายุโครงการ (Fixed Term Fund) เมื่อกองทุนครบกำหนดอายุโครงการ บริษัทจัดการจะนำเงินค่าขายคืนอัตโนมัติไปซื้อหน่วยลงทุนที่ผู้ลงทุนเลือกได้กองทุนใดกองทุนหนึ่งใน 3 กองทุน คือ กองทุนเปิดเค ตลาดเงิน (K-MONEY) กองทุนเปิดเค ตราสารรัฐระยะสั้น (K-TREASURY) หรือกองทุนเปิดเค เอ็มพลัส (K-MPLUS) ซึ่งอยู่ในกลุ่มกองทุนรวมตราสารหนี้ ของบลจ.กสิกรไทย

นายชัชชัย กล่าวอีกว่า แนวโน้มภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในช่วงครึ่งปีหลัง การลงทุนในตราสารหนี้มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนที่ลดลงกว่าครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เนื่องจากราคาตราสารหนี้ได้ปรับตัวขึ้นค่อนข้างมากแล้วทำให้มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้อีกค่อนข้างจำกัด ทั้งนี้ ปัจจัยที่ผู้ลงทุนจะต้องติดตามต่อเนื่องคือ แนวโน้มการดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางต่างๆทั่วโลกที่อาจมีนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมภายหลังผลกระทบจากเหตุการณ์ Brexit รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐฯ(FED) ซึ่งตลาดมองว่าโอกาสที่ FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้มีน้อยลง

ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทย มองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.50% ไปจนถึงสิ้นปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ดี โดยธนาคารกลางแห่งประเทศไทยคาดการณ์ GDP ในปีนี้ว่าจะขยายตัวได้ที่ 3.1% อย่างไรก็ตาม กนง.ก็อาจมีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยลงได้เช่นกัน หากว่ามีแรงกดดันจากการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมของธนาคารกลางต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ