นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS) เปิดเผยว่า กลุ่ม KTIS มีแผนสร้างรายได้จากบรรจุภัณฑ์ชานอ้อยเพิ่มเท่าตัวภายใน 3 ปี ซึ่งสัดส่วนรายได้จะเพิ่มเป็น 8% ของสายการผลิตและจำหน่ายเยื่อกระดาษจากชานอ้อย
ทั้งนี้ หลังจากได้เพิ่มสายการผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ทำจากเยื่อชานอ้อย 100% ในไตรมาส 2/59 ด้วยกำลังการผลิต 2.4 ตันต่อวัน ขณะนี้บริษัทได้ผลิตบรรจุภัณฑ์ประเภทแรกเป็นจานกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 นิ้ว 7 นิ้ว 9 นิ้ว และ 10 นิ้ว ออกจำหน่ายแล้ว และมีแผนงานที่จะผลิตชาม กล่องใส่อาหาร และถาดหลุมใส่อาหาร ออกมาในเร็วๆ นี้
การผลิตดังกล่าวอยู่ภายใต้ บริษัท เอ็นไวรอนเม็นท์พัลพ์ แอนด์ เปเปอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ KTIS ถือหุ้น 100% เป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยื่อชานอ้อย 100% ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าในช่วงปีแรกของการเริ่มผลิตสินค้าใหม่นี้ สัดส่วนของรายได้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยื่อชานอ้อย 100% จะไม่สูงนัก โดยจะอยู่ที่ประมาณ 4% ของการผลิตและจำหน่ายเยื่อกระดาษจากชานอ้อย
"กลุ่ม KTIS มีนโยบายชัดเจนที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้ได้มากยิ่งขึ้นในอนาคต หลังจากที่เราได้ดำเนินการด้วยแนวทาง Zero Waste หรือการลดของเหลือทิ้งให้เหลือศูนย์ และนำมาสร้างรายได้ได้ทั้งหมดแล้ว ซึ่งบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยื่อชานอ้อย 100% นี้ คือ การต่อยอดจากที่เราจำหน่ายเยื่อกระดาษชานอ้อยมาเป็นเวลา 10 กว่าปี นอกจากนี้ เรายังได้ศึกษาถึงการนำอ้อย น้ำตาลทราย และเอทานอล ไปต่อยอดทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกด้วย"นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว
ในกรณีของบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากชานอ้อย 100% นอกจากจะช่วยเพิ่มรายได้ เพิ่มกำไรให้กับกลุ่มบริษัทฯ แล้ว สิ่งที่กลุ่ม KTIS คำนึงถึงอยู่ตลอดเวลาก็คือ การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่รณรงค์ให้ภาคเอกชนและประชาชนรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง หรือกล่องโฟมที่ย่อยสลายยาก ทำให้เกิดปัญหาด้านการจัดการขยะ ในขณะที่บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากชานอ้อย 100% สามารถนำมาใช้ทดแทนโฟมได้ และมีผลดีอย่างมากกับสิ่งแวดล้อม เพราะสามารถย่อยสลายในเวลาอันรวดเร็ว
อนึ่ง โรงงานผลิตเยื่อกระดาษจากชานอ้อยของกลุ่ม KTIS นี้ เป็นโรงงานที่ผลิตเยื่อกระดาษจากชานอ้อยแห่งเดียวในประเทศไทยและใช้กระบวนการฟอกขาวแบบปราศจากคลอรีน อีกทั้งเป็นผลิตภัณฑ์เยื่อกระดาษรายแรกของประเทศไทยที่ได้รับมาตรฐานปลอดภัยต่อการบริโภค GMP & HACCP โดยได้ผลิตและจำหน่ายให้กับผู้ผลิตกระดาษทิชชู่ กระดาษรีมที่ใช้ในสำนักงานทั่วไป รวมถึงกระดาษในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งสามารถทดแทนการตัดต้นไม้ได้ถึงปีละ 32 ล้านต้น โดยในปี 58 กลุ่ม KTIS มีรายได้จากสายการผลิตและจำหน่ายเยื่อกระดาษจากชานอ้อย 1,305 ล้านบาท