นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน บมจ.ปตท.(PTT) กล่าวว่า ขณะนี้ ปตท.อยู่ระหว่างการเจรจากับค่ายรถยนต์ทั้งจากยุโรปและญี่ปุ่น รวม 3-4 ราย ร่วมทำสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle Charging Station) หรือ EV Charging Station เพื่อสนับสนุนให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าขยายตัวมากขึ้นในเชิงพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบันมีรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศราว 50 คัน แต่ส่วนใหญ่เป็นรถทดลอง ขณะที่มีรถเชิงพาณิชย์เพียงกว่า 10 คันเท่านั้น โดยการดำเนินการดังกล่าวเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่จะส่งเสริมให้การใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ขณะที่การเจรจากับค่ายรถยนต์จะสรุปได้ใน 1-2 เดือนข้างหน้า
สำหรับรูปแบบการร่วมดำเนินการนั้นปตท.จะเป็นคนจัดหาพื้นที่ของสถานีชาร์จไฟฟ้า ซึ่งจะอยู่ในสถานีบริการน้ำมัน ขณะที่ค่ายรถยนต์จะเป็นผู้เช่าเหมาจ่ายค่าดำเนินการให้กับ ปตท.เป็นรายเดือน โดยให้ผู้ใช้รถยนต์สามารถชาร์จไฟฟ้าได้ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วน ปตท.จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าดำเนินการทั้งหมดรวมถึงค่าไฟฟ้าด้วย ซึ่งปัจจุบัน ปตท.มีสถานีชาร์จไฟฟ้า 4 แห่ง และมีเป้าหมายจะเพิ่มเป็น 6 แห่งภายในปีนี้ และเพิ่มอีก 14 แห่งเป็น 20 แห่งภายในปีหน้า
"ตอนนี้มี 2 ค่ายแล้วที่พร้อมจะเป็นโมเดลแบบนี้...โมเดลแบบนี้จะกระตุ้นทำให้ค่ายรถขายรถได้สะดวกขึ้น แต่ก่อนคือไก่กับไข่ อันที่หนึ่งที่เราทำเพราะอยากสนองนโยบายรัฐ เพื่อสนับสนุนสังคมเป็นไฮเทค ดิจิตอล เราสนับสนุนด้วยภาวะปัจจุบันกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ยังไม่ชัดเจนหรืออยู่ระหว่างการดำเนินการ แต่เพื่อให้เกิดขึ้นได้ก่อน ก็คิดโมเดลนี้ขึ้นมา แต่ไม่คิดว่าจะเป็นโมเดลที่อยู่ตลอดไป เพราะถ้าเผื่อต่อไปเกณฑ์ออกมาชัดเจนก็ไปว่ากันอีกที เราก็อาสามาทำเพื่อให้เริ่มได้ก่อน ถามว่ากำไรหรือไม่ ไม่ต้องพูด ไม่มีทาง"นายอรรถพล กล่าว
นายอรรถพล กล่าวว่า รูปแบบของสถานีชาร์จไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน 4 แห่งนั้น มีค่าดำเนินการหัวจ่ายรวมติดตั้งราว 3-5 ล้านบาท/แห่ง แต่ละแห่งมี 2 หัวจ่าย ได้แก่ สถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบรวดเร็ว (Quick Charge) จะใช้เวลาชาร์จราว 30-40 นาที สามารถชาร์จได้ราว 80% ของความจุ และการอัดประจุไฟฟ้าแบบธรรมดา (Normal Charge) จะใช้เวลาชาร์จราว 8 ชั่วโมง สามารถชาร์จได้เต็ม 100% ของความจุ โดยในส่วนของสถานีชาร์จไฟฟ้าอีก 2 แห่งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ก็จะมีทั้ง 2 รูปแบบเช่นกัน แต่สำหรับอีก 14 แห่งในปีหน้านั้นจะมีหัวจ่ายแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดเป็นหลัก ขณะที่ในอนาคต ปตท.ยังมีแผนที่จะพัฒนาเครื่องชาร์จเองในอนาคตด้วย
ส่วนความคืบหน้าการพัฒนาโรงแรมราคาประหยัด (Budget Hotel) ในสถานีบริการน้ำมันนั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับเจ้าของ chain ธุรกิจโรงแรม คาดว่าภายในเดือน ส.ค.นี้ ปตท.จะออกหลักร่างประกาศเชิญชวน เพื่อให้เจ้าของ chain เข้ามารับเอกสารและให้เวลา 2 เดือนในการจัดทำรูปแบบการร่วมดำเนินการ ซึ่งเปิดกว้างในหลายรูปแบบ และส่งรายละเอียดเข้ามาเพื่อเจรจารายละเอียดกับ ปตท.ต่อไป โดยปตท.ยังมีเป้าหมายที่จะมีคัดเลือกเพียงรายเดียวภายในปีนี้เพื่อร่วมทำโรงแรม 50 แห่ง โดยแห่งแรกคาดว่าจะเริ่มสร้างในต้นปีหน้าและแล้วเสร็จในต้นปี 61