โบรกเกอร์แนะ "ซื้อ"หุ้นธนาคารกรุงเทพ (BBL) จากคาดการณ์กำไรไตรมาส 2/59 จะเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่ปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.2% จากไตรมาสก่อนหน้าที่ 2.3% หลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา แต่ธนาคารยังสามารถปล่อยกู้ให้กับลูกค้าขนาดใหญ่ที่มีความต้องการสินเชื่อเพื่อใช้ในดีลการซื้อกิจการเป็นแรงหนุนให้สินเชื่อในไตรมาส 2/59 ขยายตัวได้ และมีแนวโน้มที่สินเชื่อของปีนี้จะเข้าเป้าโต 4% หากครึ่งปีหลังมีการลงทุนโครงการจากรัฐและเอกชน ซึ่ง BBL มีความเชี่ยวชาญด้านสินเชื่อลูกค้าขนาดใหญ่
ด้านสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของ BBL ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2/59 เป็น 3% จากไตรมาส 1/59 ที่ 2.9% ซึ่งทำให้ BBL ยังมีการตั้งสำรองในระดับสูงใกล้เคียงกับการตั้งสำรองในไตรมาส 1/59 และทั้งปีมีโอกาสที่ตั้งเพิ่มขึ้นเป็น 1.4 หมื่นล้านบาท จากที่คาดไว้ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท เนื่องจาก NPL ในครึ่งปีหลังยังมีทิศทางการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวแต่อยู่ในระดับที่ธนาคารยังบริหารจัดการได้
ด้านราคาหุ้น BBL เมื่อเวลา 14.49 น.อยู่ที่ 170.50 บาท ลดลง 1.50 บาท (-0.87%) ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) บัวหลวง ซื้อ 202 เคทีบีฯ ซื้อ 201 ฟินันเซีย ไซรัส ซื้อ 190 กสิกรไทย ซื้อ 189 เอเชีย เวลท์ ซื้อ 188 ฟิลลิปฯ ทยอยซื้อ 181 แอพเพิล เวลธ์ ซื้อ 180
นางสาวสุนันทา วสะภิญโญกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส แนะนำ "ซื้อ"หุ้น BBL โดยมองแนวโน้มกำไรในไตรมาส 2/59 เติบโต 8% จากไตรมาส 1/59 และเติบโต 12% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/58 โดยกำไรที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ลดลง หลังไม่มีค่าใช้จ่ายพิเศษในการบันทึกการเป็นหนี้เสียของบริษัทไทยทีวีที่ได้บันทึกไปในไตรมาสก่อน ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยและรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยในไตรมาส 2/59 มีแนวโน้มที่ลดลง โดย NIM จะยังได้รับผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาวในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ NIM ปรับลดลงราว 0.1-0.15% มาอยู่ที่ 2.13% มีผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยลดลงราว 1 พันล้านบาทต่อไตรมาส ส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยมีการปรับตัวลดลงเล็กน้อย ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาลของธุรกิจ ด้าน NPL ของ BBL ในไตรมาส 2/59 คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3% จากไตรมาส 1/59 ที่ 2.9% ซึ่งเป็นระดับเพิ่มขึ้นที่ยังไม่มีความน่ากังวล แต่สิ่งที่ต้องจับตา คือ คุณภาพหนี้ของบมจ.ซีทีเอช (CTH) ในอนาคตที่ CTH น่าจะได้รับผลกระทบด้านรายได้หลังจากการหยุดให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียม โดยที่ BBL ให้สินเชื่อกับ CTH ประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาทก่อนหน้านี้ สำหรับการขยายตัวของสินเชื่อของ BBL คาดว่าในปีนี้จะเติบโตได้ 4% โดยปัจจุบันสินเชื่อของ BBL เติบโตแล้ว 1.5% และสินเชื่อในไตรมาส 2/59 มีการขยายตัวราว 1% จากไตรมาส 1/59 เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่สำหรับดีลการซื้อกิจการ อย่างเช่น ดีลซื้อกิจการบมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (BIGC) ของบมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) นายอดิศร มุ่งพาลชล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) คาดว่ากำไร BBL ไตรมาส 2/59 จะเพิ่มขึ้น 3.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือมาอยู่ที่ 8.3 พันล้านบาท แม้ว่าแนวโน้มโน้มการตั้งสำรองยังมากขึ้นตาม NPL ที่เพิ่มขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่ลดลงตามอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง และรายได้ค่าธรรมเนียมยังเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเทียบกำไรไตรมาส 2/59 กับไตรมาส 1/59 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.1% จากรายได้ค่าธรรมเนียมในไตรมาส 2/59 ที่ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในไตรมาส 2/59 ปรับตัวลดลง ทำให้ NIM ลดลงเป็น 2.2% จากไตรมาส 1/59 ที่ 2.3% และยังมีการตั้งสำรองที่สูงอยู่เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ด้าน NPL ของ BBL ในไตรมาส 2/59 คาดว่าเพิ่มขึ้นเป็น 3% จากไตรมาส 1/59 ที่ 2.9% ทำให้ไตรมาส 2/59 BBL ยังต้องมีการตั้งสำรองในระดับที่สูงอยู่ ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ NPL ของ BBL จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวมากขึ้นเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปีนี้ แต่ได้ปรับประมาณการณ์การตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเป็น 1.4 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่ 1.3 หมื่นล้านบาท ตามทิศทาง NPL ที่เพิ่มขึ้น สำหรับการขยายตัวของสินเชื่อของ BBL ในไตรมาส 2/59 คาดว่ามีการขยายตัวราว 2% จากไตรมาส 1/59 โดยสินเชื่อที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่มาจากลูกค้าขนาดใหญ่ที่ให้ผลตอบแทนน้อยกว่าสินเชื่อประเภทอื่น ๆ แต่ทำให้การขยายตัวของสินเชื่อเป็นไปในทิศทางที่ดี อีกทั้ง BBL มีความเชี่ยวชาญด้านสินเชื่อลูกค้าขนาดใหญ่ ทำให้ในช่วงครึ่งปีหลัง BBL มีโอกาสที่จะสามารถปล่อยสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐและเอกชนได้มากขึ้น นักวิเคราะห์ บล.แอพเพิล เวลธ์ ประเมินกำไร BBL ในไตรมาส 2/59 อยู่ที่ 8.3 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.1% จากไตรมาส 1/59 และเพิ่มขึ้น 3.7% จากไตรมาส 2/58 โดยกำไรที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาจากการขยายตัวของสินเชื่อลูกค้าขนาดใหญ่ จากการลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น ทำให้สินเชื่อในไตรมาสนี้ขยายตัว1.6% จากไตรมาส 1/59 ส่วน NIM ยังเป็นปัจจัยที่กดดันกำไรเล็กน้อย จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในเดือนเม.ย.ทำให้ NIM ในไตรมาส 2/59 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 2.16% จากไตรมาส 1/59 ที่ 2.29% และรายได้ค่าธรรมเนียมหากเทียบกับไตรมาสแรกลดลงราว 2% แต่เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/58 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับรายได้อื่น ๆ ที่มีแนวโน้มลดลงจากความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจที่มีมากขึ้น ขณะที่การตั้งสำรองในไตรมาส 2/59 ของ BBL ยังมีแนวโน้มที่ตั้งสำรองในระดับที่สูงราว 3.54 พันล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับไตรมาส 1/59 เนื่องจากแนวโน้มของ NPL ยังมีทิศทางที่เพิ่มขึ้น เป็น 3% จากไตรมาส 1/59 ที่ 2.9% และคาดว่า NPL สิ้นปีจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.2%-3.3% จากสิ้นปีก่อนที่ 2.8% โดยทั้งปีนี้คาดว่าจะมีการตั้งสำรองทั้งหมดในระดับ 1.2-1.4 หมื่นล้านบาท