KTB บวกสวนตลาด 1.78% อยู่ที่ 17.20 บาท เพิ่มขึ้น 0.30 บาท โดยเปิดตลาดที่ 17.10 สูงสุด 17.20 บาท ต่ำสุด 17.10 บาท มูลค่าการซื้อขาย 338.39 ล้านบาท
บทวิเคราะห์ บล.ทรีนีตี้ แนะ"ซื้อ"หุ้นธนาคารกรุงไทย (KTB) หลังประกาศกำไร Q2/59 ที่ 8,679 ล้านบาท ดีขึ้น 15%QoQ และ 3%YoY สูงกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า เนื่องจาก NPL ที่เพิ่มขึ้นเริ่มเป็นอัตราที่ชะลอลง ทำให้ธนาคารลดการตั้งสำรองพิเศษ ด้านรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจากต้นทุนทางการเงินที่ลดลง ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน
สำหรับในครึ่งปีหลังเรามองว่าแนวโน้ม NPL ยังเพิ่มขึ้นอยู่ แต่จะไม่แรงเท่ากับในครึ่งปีแรก ทำให้ธนาคารอาจลดการตั้งสำรองพิเศษ หรืออาจคงระดับการตั้งสำรองพิเศษไว้เพื่อเพิ่ม NPL Coverage Ratio ได้ เราปรับไปใช้ราคาเป้าหมายปี 60 ที่ 19.50 บาท
ขณะที่ บล.แอพเพิล เวลธ์ ปรับราคาเป้าหมาย KTB ขึ้นมาที่ 18.80 บาท อิง PBV 0.93 เท่า เพื่อสะท้อนคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีกว่าคาดและรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิที่ยังช่วยประคองผลการดำเนินงาน และปรับคำแนะนำเป็น"ซื้อ"มี Upside 11% คาดปันผลปี 59 ที่ 0.80 บาทคิดเป็น Dividend Yield 4.7%
ทั้งนี้ มองว่า KTB ประกาศกำไร Q2/59 ดีกว่าคาดที่ 8.7 พันล้านบาท +2.7%YoY +15.1%QoQ โดยรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิเติบโตดีจากธุรกรรมบัตรและอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ NPL มีแนวโน้มเติบโตน้อยกว่าคาด ขณะที่ยังสามารถรักษาระดับ NIM ได้ดี เรายังคงประมาณการณ์กำไรสุทธิปี 59 ที่ 3.1 หมื่นล้านบาท
กำไรสุทธิ 2Q59 ดีกว่าที่เราคาด 15% และดีกว่า Bloomberg Analyst Consensus คาด 12% แม้ว่าสินเชื่อจะหดตัว -0.87%QoQ และ -2.7%YTD เนื่องจากการเบิกจ่ายภาครัฐยังล่าช้าและลูกค้า Corporate หันไปออกหุ้นกู้มากขึ้น ทำให้ KTB อาจไม่สามารถบรรลุเป้าสินเชื่อปีนี้ที่ 3%
โดยใน 2Q59 ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 2.2 หมื่นลบ.เติบโต +6.1%YoY +3.9%QoQ จาก NIM ที่ปรับตัวดีขึ้น 3.17% เป็น 3.28% เนื่องจากเงินฝากดอกเบี้ยสูงที่ครบกำหนดในไตรมาสนี้ สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิที่ 5.3 พันลบ. +16%YoY +2.3%QoQ หลักๆมาจากค่าธรรมเนียมธุรกรรมบัตรและธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ส่งผลให้ Cost to Income ปรับตัวลดลงที่ 39% ลดลงต่ำกว่า 41% ใน 2Q58
ด้าน NPL ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 3.7% มาที่ 3.9% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยคาดว่า NPL จะขึ้นสูงสุดใน Q3/59 และดีขึ้นใน Q4/59 สำหรับ LLR Coverage ทรงตัวที่ 105% จาก Provision ที่ 7.7 พันล้านบาท ลดลงจาก 8.6 พันล้านบาทใน Q1/59