นายวิชา โตมานะ กรรมการผู้จัดการ สายงานวาณิชธนกิจ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บมจ.บิสซิเนสอะไลเม้นท์ (BIZ) เปิดเผยถึงผลการเปิดจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 100 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท ในราคาหุ้นละ 2.90 บาท ระหว่างวันที่ 20-22 ก.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากนักลงทุนในการจองซื้อหุ้น IPO เข้ามาเป็นจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในธุรกิจของบริษัทเป็นอย่างดี
“เป็นผลมาจากปัจจัยพื้นฐานของบริษัทที่แข็งแกร่ง และด้วยบริษัทเป็นหุ้นในกลุ่มเครื่องมือทางการแพทย์เฉพาะทาง โดยเป็นผู้นำตลาดในด้านการให้บริการแบบครบวงจร (Solution Provider) เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในการรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสีรักษา ซึ่งด้วยจุดเด่นดังกล่าวทำให้ BIZ ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี ประกอบกับแนวโน้มของตลาดดังกล่าวยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องและการกำหนดราคาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐาน ผมจึงเชื่อมั่นว่าเมื่อหุ้น BIZ เข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 28 กรกฏาคมนี้ จะสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีแก่นักลงทุน"นายวิชา กล่าว
นายเสกสรรค์ ธโนปจัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า สาเหตุที่ BIZ ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน เป็นเพราะปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และนักลงทุนมั่นใจในศักยภาพการเติบโตของบริษัทที่มีโอกาสขยายตัวได้อีก ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณบวกมาตั้งแต่การไปโรดโชว์นำเสนอข้อมูลให้กับนักลงทุน 11 จังหวัดทั่วประเทศ และห้องค้าหลักทรัพย์ต่างๆ ปรากฎว่านักลงทุนต่างให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังข้อมูลเป็นจำนวนมาก “BIZ ถือเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่มีความน่าสนใจในการลงทุนอย่างมาก ด้วยจุดเด่นในการเป็นผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เฉพาะทางใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยมีประสบการณ์ด้านเครื่องมือแพทย์มายาวนานกว่า 15 ปี ประกอบกับมีผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และความเข้าใจในผลิตภัณฑ์เป็นอย่างมาก ทำให้สามารถตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าได้เป็นอย่างดี โดยจากปัจจัยดังกล่าวทำให้ BIZ ได้รับการตอบรับที่ดี"นายเสกสรรค์ กล่าว
ด้านนายสมพงษ์ ชื่นกิติญานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BIZ กล่าวว่า เม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้จะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะทำให้บริษัทฯมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้น เพื่อนำไปใช้รองรับการรับงานใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากในปัจจุบันผู้ป่วยโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่เครื่องฉายรังสีมีจำนวนไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น
ปัจจุบันบริษัทฯมีงานในมือกว่า 600 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้ประมาณ 80-90% จากมูลค่างานทั้งหมด สำหรับกลุ่มลูกค้าของบริษัทฯส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศ อาทิ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล, และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นต้น “ตลาดเครื่องฉายรังสียังมีความต้องการใช้เป็นจำนวนมาก เพื่อตอบสนองการใช้งานและรองรับผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่าจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งของไทยในปี 58 มีอยู่กว่า 130,000 รายและครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ป่วยนี้ มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสี หรือที่ประมาณ 65,000 ราย ขณะที่เครื่องฉายรังสีสามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยได้ประมาณ 400-500 ราย/เครื่อง/ปี ดังนั้น จำนวนเครื่องฉายรังสีขั้นต่ำที่จะสามารถตอบสนองต่อความต้องการได้เพียงพอจะอยู่ที่ประมาณ 165 เครื่อง (บนฐานจำนวนผู้ป่วยในปี 58) แต่ปัจจุบันมีจำนวนเครื่องฉายในรูปแบบของเครื่องเร่งอนุภาคมีเพียง 70 กว่าเครื่องเท่านั้น"นายสมพงษ์ กล่าว