ธนาคารกรุงไทย (KTB) ร่วมลงนามกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อจัดตั้ง "กองทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุนสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีก้าวไกลไปด้วยกัน" ตามมติคณะรัฐมนตรี วงเงินรวม 2,300 ล้านบาท ในรูปแบบกองทุนรวมลงทุนในกิจการ (SMEs Private Equity Trust Fund) โดยธนาคารกรุงไทยสนับสนุนในวงเงิน 2,000 ล้านบาท
กองทรัสต์ดังกล่าว มีเป้าหมายร่วมลงทุนกับ SMEs ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ SMEs ระยะเริ่มต้น (Startup) ที่มีศักยภาพสูง และ SMEs ที่มีศักยภาพในการเติบโต และใช้เทคโนโลยีเป็นฐานการผลิตหรือบริการหรือด้านนวัตกรรม รวมทั้ง SMEs ที่มีประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นซัพพลายเออร์ธุรกิจภาครับและภาคเอกชนขนาดใหญ่ เป็นสมาชิกสภาหอการค้าไทย หรือหน่วยงานภาครัฐ โดยผู้ประกอบการจะได้รับเงินทุนสนับสนุน คำปรึกษาด้านการเงิน องค์ความรู้ในการลงทุน และการบริหารสำหรับกิจการที่มีแผนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ทั้งนี้ ธนาคารได้แต่งตั้งให้ บลจ.กรุงไทย บริการจัดการลงทุน และ บลจ.วรรณ ดูแลผลประโยชน์ของกองทรัสต์
นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลท.กล่าวว่า ตลท.มีเป้าหมายที่จะเห็นตลาดหุ้นไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ดังนั้น จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพบริษัทจดทะเบียน ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความเข้มแข็งให้บริษัทก่อนที่จะจดทะเบียนควบคู่กันไป
อีกทั้งยังมองว่า SMEs เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพที่จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอนาคต หรืออาจเป็นธุรกิจที่มีส่วนสนับสนุนหรือเป็น Supply Chain ให้กับบริษัทจดทะเบียน จึงกำหนดเรื่อง การสร้างความแข็งแกร่งให้ SMEs เป็นหนึ่งในภารกิจหลัก โดยงานส่วนหนึ่ง คือ การให้ความสนับสนุนด้านเงินทุนแก่ธุรกิจ SMEs ที่มีศักยภาพ ผ่านการร่วมลงทุนใน Private Equity Trust ซึ่ง ตลท.จะร่วมลงทุนกับกองทรัสต์ที่ตั้งขึ้นนี้ จำนวน 200 ล้านบาท พร้อมทั้งสนับสนุนในด้านอื่นๆ เพื่อให้การดำเนินงานของกองทรัสต์สำเร็จตามวัตถุประสงค์
นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานด้านการวิจัยและพัฒนาที่พร้อมจะนำนวัตกรรมจากการวิจัยและพัฒนามาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งการร่วมจัดตั้งกองทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุนสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีก้าวไกลไปด้วยกันนี้ สวทช. มีนโยบายมุ่งเน้นที่จะใช้เทคโนโลยีฐานในการผลิตและบริการ
นอกจากนี้ สวทช. ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนที่พร้อมจะให้คำปรึกษาในการดำเนินธุรกิจและนำเทคโนโลยีไปใช้อีกด้วย การใช้เทคโนโลยีสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีนี้ สนับสนุนให้ผู้ประกอบการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและเติบโตอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดด
ทั้งนี้ สวทช. จะสนับสนุนวงเงินลงทุน 100 ล้านบาท นอกเหนือจากการร่วมลงทุน สวทช. ยังมีมาตรการอื่นๆ สนับสนุนผู้ประกอบการในด้านเทคโนโลยี เช่น การรับรองโครงการวิจัยและพัฒนา การรับรองธุรกิจเทคโนโลยี เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้ เป็นต้น
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บมจ.กรุงไทย กล่าวว่า คุณสมบัติของผู้ประกอบการเป้าหมายในเบื้องต้นนั้น จะต้องเป็นกิจการที่มีศักยภาพสูง ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นฐานการผลิตหรือบริการ และมีผลประกอบการย้อนหลังอย่างน้อย 2-3 ปี นอกจากนี้ บริษัทจะพิจารณาถึงทีมบริหาร กลยุทธ์การตลาด การต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ฯลฯ ซึ่งสนับสนุนวิสาหกิจเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการ และสร้างมูลเพิ่มทางเศรษฐกิจแก่ประเทศได้ในระยะยาว