นายพงษ์ชัย ชัยจิรวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจการตลาด บมจ.บางจากปิโตรเลียม (BCP) กล่าวว่า บริษัทวางเป้าหมายมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของธุรกิจค้าปลีกตามแผน 5 ปี (ปี 58-62) แตะระดับ 5 พันล้านบาท จากเป้าหมายปีนี้ที่ 2.5 พันล้านบาท แต่มีโอกาสที่จะทำได้ถึงระดับ 3 พันล้านบาท หลังจากยอดขายธุรกิจน้ำมันและนอนออยล์เติบโตมาก แม้มาร์จิ้นของธุรกิจน้ำมันทรงตัว ขณะที่ตามแผน 5 ปีธุรกิจค้าปลีกจะใช้งบลงทุน 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มปั๊มน้ำมันและขยายธุรกิจนอนออยล์ ล่าสุดเตรียมเปิดแบรนด์ร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตใหม่ปลายปีนี้หลังซื้อแฟรนไชส์จากยุโรป เสริมทัพ"มินิบิ๊กซี"
"EBITDA ปีนี้ 2.5 พันล้านบาททำได้แน่นอน ถ้าเราทำได้ดีอาจเห็นตัวเลข 3 พันล้านบาท มาร์จิ้นวันนี้ค่อนข้างอยู่ในช่วงที่ดีเทียบกับปีที่แล้วก็ใกล้เคียงกัน...การขายที่ให้มาร์จิ้นสูงสุดคือการขายน้ำมันผ่านปั๊มที่มีตัวเลขเพิ่มขึ้น แม้จะมีมาร์จิ้นรวมเท่าเดิมก็ได้ แต่การขายน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ก็ทำให้ EBITDA เราเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ทำได้ 2.3 พันล้านบาท "นายพงษ์ชัย กล่าว
นายพงษ์ชัย กล่าวว่า ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) ปริมาณขายน้ำมันผ่านสถานีบริการน้ำมันของตลาดเติบโต 11.3% ซึ่งยังคงเป็นการเติบโตที่เป็นตัวเลข 2 หลักต่อเนื่องจากปีที่แล้ว หลังราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำ และการที่ภาครัฐปรับราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) และราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริงมากขึ้น ทำให้ตลาดน้ำมันเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วง 2 ปีนี้ (ปี 58-59) ขณะที่คาดว่าตลาดน้ำมันจะกลับมาเติบโตตามปกติปีละ 6-7% ในปีหน้า หลังสะท้อนปัจจัยการปรับราคา NGV และ LPG ไปแล้ว อีกทั้งคาดว่าราคาน้ำมันดิบในปีหน้าอาจจะปรับขึ้นแต่ไม่มากนัก
สำหรับปริมาณขายน้ำมันผ่านสถานีบริการน้ำมันของตลาดในช่วง 5 เดือนแรก พบว่า น้ำมันกุล่มเบนซินเติบโตกว่า 13% ขณะที่ดีเซลเติบโต 10% ทำให้บริษัทปรับกลยุทธ์ด้วยการหันมาเน้นการขายน้ำมันผ่านสถานีบริการน้ำมันซึ่งมีมาร์จิ้นสูงมากขึ้น และลดการขายน้ำมันผ่านตลาดอุตสาหกรรม และการขายส่งให้กับผู้ค้าน้ำมัน (จ็อบเบอร์) อื่น ๆ โดยปัจจุบันยอดขายน้ำมันเฉลี่ยผ่านสถานีบริการน้ำมันของบริษัทเพิ่มขึ้นราว 10% จากปีที่แล้วมาที่ 310 ล้านลิตร/เดือน นอกจากนี้จากการที่ตลาดน้ำมันเติบโตมากในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เริ่มเห็นผู้ค้าน้ำมันกลับมาเร่งเปิดสถานีบริการมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากในช่วง 5-6 ปีก่อนหน้านี้แทบไม่มีการเปิดสถานีบริการใหม่เลย
ในส่วนของบริษัทมีแผนลงทุนสำหรับธุรกิจค้าปลีกในช่วง 5 ปีระดับ 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนนี้ประมาณกว่า 8 พันล้านบาทใช้สำหรับสร้างสถานีบริการน้ำมันแห่งใหม่ เพื่อให้มีสถานีบริการ 1,300-1,400 แห่ง จากปัจจุบันที่มีราว 1,000 แห่ง แบ่งเป็นสถานีบริการมาตรฐานกว่า 400 แห่ง และสถานีบริการของสหกรณ์อีกกว่า 600 แห่ง ขณะที่เงินลงทุนส่วนที่เหลือเป็นการปรับปรุงสถานีบริการน้ำมันเดิมและการขยายธุรกิจนอนออยล์
โดยในปีนี้มีแผนจะเปิดสถานีบริการใหม่ 60 แห่ง จากปีที่แล้วที่เปิด 36 แห่ง และปีหน้าจะเปิดเกือบ 100 แห่งซึ่งจะเป็นการเปิดสถานีบริการมาตรฐานทั้งหมด เน้นในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และกระจายภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ขณะที่จะยังรักษาจำนวนสถานีบริการของสหกรณ์ในระดับเดิม แต่จะเน้นการเข้าไปปรับปรุงสภาพให้ดีขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามก็จะปิดสถานีบริการบางแห่งที่มีพื้นที่ไม่เหมาะสมและบางแห่งครบสัญญาดำเนินการ
ขณะที่ตั้งเป้าหมายจะมีส่วนแบ่งตลาดค้าปลีกน้ำมันเพิ่มเป็น 20% ตามแผน 5 ปี จากปัจจุบันที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 2 ที่ระดับ 15%
นายพงษ์ชัย กล่าวอีกว่า บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาออกผลิตภัณฑ์น้ำมันเกรดพรีเมียม สำหรับน้ำมันดีเซล ในช่วงต้นปี 60 ซึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะออกมาจะต้องมีความแตกต่างจากผู้ค้าน้ำมันรายอื่น นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการปรับโฉมใหม่ของสถานีบริการมาตรฐานให้มีความโฉบเฉี่ยวและน่าสนใจมากขึ้น โดยจะเห็นโฉมใหม่เต็มรูปแบบในปลายปีนี้ ซึ่งจะปรับเปลี่ยนโฉมของอาคารธุรกิจนอนออยล์ให้มีความสอดคล้องกันกับสถานีบริการน้ำมันด้วย
ล่าสุดได้ตั้งบริษัทย่อยภายใต้ชื่อ บริษัท บางจากรีเทล จำกัด (BCR) เพื่อแยกธุรกิจนอนออยล์ออกมาบริหารโดยเฉพาะเพื่อความคล่องตัว ซึ่งจะเน้นใน 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ซุปเปอร์มาร์เก็ต,กาแฟ และอาหาร ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีความร่วมมือกับบมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (BIGC) โดยมีการตั้งร้านมินิบิ๊กซี ในสถานีบริการน้ำมันของบางจาก แต่ในอนาคตจะเพิ่มแบรนด์ร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตใหม่ ซึ่งจะเป็นการซื้อแฟรนไชส์จากยุโรป เพื่อพัฒนาเป็นแบรนด์ของบริษัทในไทย และมีโอกาสที่จะขยายออกไปนอกสถานีบริการน้ำมันในอนาคตด้วย โดยคาดว่าจะได้เห็นในปลายปีนี้ ซึ่งมีแผนจะเปิดได้ราว 5 แห่งในปีนี้
"ธุรกิจเราต้องการมีความเชื่อมโยงกันระหว่างกาแฟ , ฟู้ดส์ ,grocery เข้าด้วยกัน ก็เลยจำเป็นต้องทำของเราเอง เป็นแบรนด์ที่เรานำเทคโนโลยีของเขามา เป็นแฟรนไชส์จากยุโรปเพื่อมาสร้างแบรนด์ใหม่ที่เราเป็นเจ้าของแบรนด์นี้ในไทย...กับบิ๊กซีวันนี้มีอยู่ 165 แห่งก็จะยังอยู่อย่างปั๊มที่เราวางไว้จะมี 1,400 แห่งในอนาคต โดยหลักคงไปที่แบรนด์ใหม่ แต่บางโลเกชั่นไม่เหมาะสมก็เอาบิ๊กซีไปลง ขึ้นอยู่กับพื้นที่มากกว่า การที่เรามีแบรนด์ใหม่ก็ทำให้มีทางเลือกมากขึ้น"นายพงษ์ชัย กล่าว
นายพงษ์ชัย กล่าวอีกว่า สำหรับธุรกิจกาแฟ ปัจจุบันมี 2 แบรนด์ คืออินทนิล คอฟฟี่ และอินทนิล การ์เด้นส์ ปัจจุบันมีอยู่ 380 แห่ง มีแผนที่จะขยายเป็น 1,000 แห่งตามแผน 5 ปี โดยธุรกิจกาแฟยังมีศักยภาพของการเติบโตได้ดีต่อเนื่อง ซึ่งตามแผนการขยายงานของธุรกิจนอนออยล์ดังกล่าว เพื่อผลักดันให้ธุรกิจนอนออยล์มีสัดส่วน EBITDA เพิ่มขึ้นเป็น 30% ของ EBITDA ธุรกิจค้าปลีกตามแผน 5 ปี จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนราว 10%