บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) จับมือบริษัท ไดวะ เฮาส์ อินดัสทรี จากญี่ปุ่น ตั้งบริษัทร่วมทุนสร้างศูนย์โลจิสติกส์ 2 แห่งในแหลมฉบัง และบางนา-ตราด มูลค่าโครงการ 2.35 พันล้านบาท พร้อมมองโอกาสร่วมมือขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้านทั้งอินโดนีเซีย และเวียดนาม คาดจะสรุปได้ในปีหน้า
ขณะที่เตรียมยื่นไฟลิ่งนำธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปโภคเข้าตลาดหุ้นในช่วงไตรมาส 4/59 ถึงไตรมาส 1/60 พร้อมรุกแผนลงทุนโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมเตรียมยื่นเสนอขอขายไฟฟ้า 2 โครงการ รวมเกือบ 20 เมกะวัตต์ (MW) รองรับการเติบโต โดยเตรียมประกาศแผนลงทุนและแนวโน้มธุรกิจในช่วง 5 ปี (ปี 59-63) ใหม่ในเดือนส.ค.นี้
"WHA ไม่เน้นการแข่งขัน แต่เน้นเรื่องของ strategic partner ให้เป็นหนึ่งใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ไดวะ เฮาส์ฯ ทำธุรกิจคล้ายคลึงกับเราในบางเรื่องอย่างโลจิสติกส์ ก็มาจับมือร่วมกัน เราคุยถึงการลงทุนในต่างประเทศร่วมกัน หวังว่าการรร่วมมือครั้งนี้ไดวะ เฮาส์ฯ จะนำลูกค้าจากญี่ปุ่นเข้ามามากขึ้น ซึ่งลูกค้าญี่ปุ่นก็เป็นฐานลูกค้าหลักของเราอยู่แล้ว และคาดว่าจะร่วมกันไปในประเทศอื่น ๆ เช่น อินโดนีเซียและเวียดนาม ก็น่าจะเห็นการร่วมลงทุนกันเป็นโครงการ ๆ ในปีหน้า"นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม WHA กล่าว
วันนี้ WHA ได้ลงนามจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัท ไดวะ เฮาส์ อินดัสทรี ภายใต้ชื่อบริษัท ดับบลิวเอชเอ ไดวะ โลจิสติกส์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 850 ล้านบาท โดย WHA ถือหุ้น 51% และ ไดวะ เฮ้าส์ฯ ถือหุ้น 49% เพื่อลงทุนในโคร การสร้างศูนย์โลจิสติกส์ขนาดใหญ่ 2 แห่ง ในแหลมฉบัง และบางนา-ตราด มูลค่ารวม 2.35 พันล้านบาท
นางสาวจรีพร กล่าวว่า บริษัทร่วมทุนกับไดวะ เฮาส์ฯ เป็นผู้ลงทุนในโครงการดับบลิว เมกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ แหลมฉบัง (LCB) สร้างขึ้นในคอนเซ็ปท์แบบ Built-to-Suit ตั้งอยู่ที่แหลมฉบัง ในเฟสที่ 2 มีพื้นที่ราว 23,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปลายปีนี้ แล้วเสร็จสมบูรณ์ในราวกลางปี 60 เพื่อส่งมอบให้กับลูกค้ากลุ่มฮอนด้า หลังจากที่โครงการดังกล่าวในเฟสที่ 1 พื้นที่ 22,500 ตร.ม. ซึ่ง WHA เป็นผู้พัฒนาเพียงรายเดียวนั้น ได้ส่งมอบพื้นที่ให้แก่บริษัท ฮอนด้า โลจิสติกส์ เมื่อไตรมาส 3/58
รวมถึงจะลงทุนในโครงการดับบลิวเอชเอ เมกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตรอ์ ชลหารพิจิตร (Chonlaharn) ตั้งอยู่บนพื้นที่บางนา-ตราด มีพื้นที่รวม 77 ไร่ และจะมีพื้นที่ให้เช่าราว 74,000 ตร.ม. ซึ่งจะสร้างในลักษณะ Warehouse Farm เพื่อรองรับความต้องการคลังสินค้าภายในประเทศที่ตั้งอยู่ใกล้กรุงเทพฯ ประกอบด้วย 4 อาคาร เพื่อรองรับผู้เช่ารายต่าง ๆ เช่น กลุ่มเซ็นทรัล และฮิตาชิ ทรานสปอร์ต ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าแล้วเกิน 60% และเมื่อโครงการแล้วเสร็จในปลายปีนี้คาดว่าจะมีลูกค้าเต็มทั้ง 100% ซึ่งทั้ง 2 โครงการที่ลงทุนในนามบริษัทร่วมทุนนั้น คาดว่าจะสร้างรายได้ค่าเช่าได้กว่า 200 ล้านบาท/ปี นอกจากนี้คาดว่าจะนำโครงการทั้ง 2 แห่ง ขายเข้ากองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดับบลิวเอชเอ พรีเมี่ยม โกรท (WHART) ในช่วงปี 61-62 ด้วย ขณะที่ WHART เริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ตั้งแต่เดือนธ.ค.57
ปัจจุบัน WHA มีพื้นที่คลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้าและโรงงานให้เช่าราว 2 ล้านตารางเมตรในไทย ทั้งที่เป็นแบบ Built-to-Suit (BTS) คลังสินค้าแบบ Warehouse Farm ที่มีผู้เช่าหลายราย รวมถึงโรงงานสำเร็จรูป (Ready-Built Factories:RBF) และคลังสินค้าสำเร็จรูป (RBW) นอกจากนี้ยังวางแผนที่จะพัฒนาพื้นที่เช่ารวมกว่า 3 ล้านตร.ม.ภายใน 3-4 ปีข้างหน้าด้วย ขณะที่ไดวะ เฮาส์ฯ นอกเหนือจากการลงทุนในญี่ปุ่นแล้ว ยังมีการลงทุนคลังสินค้าให้เช่าและโรงงานให้เช่าในเวียดนาม และอินโดนีเซียด้วย ซึ่งตามแผนลงทุนช่วง 3 ปีนี้ไดวะ เฮาส์ฯ จะใช้เงินลงทุน 10-20% ของเงินลงทุน 3.6 แสนล้านเยน เพื่อใช้พัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์ในไทยและอาเซียน
นางสาวจรีพร กล่าวอีกว่า ปัจจุบันบริษัทและไดวะ เฮาส์ฯ ต่างมีการลงทุนในอินโดนีเซียอยู่แล้วก็ยังคงลงทุนตามเดิมต่อไป แต่การลงทุนใหม่ในภูมิภาคอาเซียนนั้น ก็จะเป็นการลงทุนร่วมกันในแต่ละโครงการใหม่ ซึ่งมองที่อินโดนีเซียและเวียดนามเป็นหลักก่อน แต่ก็ยังให้ความสนใจในกัมพูชา และเมียนมาด้วย
สำหรับเป้าหมายรายได้ของบริษัทในปีนี้ ณ ปัจจุบันยังคงเป็นตามเดิมที่คาดว่าจะมีรายได้ 1.7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1.2 หมื่นล้านบาทในปีที่แล้ว แต่เตรียมที่จะประกาศแผนการลงทุนใหม่ในช่วง 5 ปี (ปี 59-63) และทิศทางธุรกิจ รวมถึงเป้าหมายผลการดำเนินงานใหม่ในวันที่ 9 ส.ค.นี้ หลังจากที่จะนำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทในวันที่ 1 ส.ค.นี้
การดำเนินงานของ 4 ธุรกิจหลักของบริษัทยังคงเป็นไปตามแผน โดยธุรกิจพัฒนาโลจิสติกส์ คาดว่าช่วงครึ่งปีหลังจะสามารถปิดดีลต่าง ๆ ได้เพิ่มขึ้น โดยทั้งปียังคงเป้าขยายพื้นที่เช่าไว้ที่ 230,000 ตร.ม. ส่วนธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ยังคงมีแผนตั้งเป้าหมายการขาย 1 พันไร่ หลังจากในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ทำได้ราว 400 ไร่ ขณะที่ปัจจุบันมีนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด 12 แห่ง โดยเป็นนิคมฯที่พัฒนาแล้ว 8 แห่ง และกำลังพัฒนาอีก 4 แห่ง
ธุรกิจสาธารณูปโภคและไฟฟ้า (UTILITY & POWER) มีรายได้เข้ามาต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือตามสัดส่วนการร่วมทุน 538 เมกะวัตต์ และยังมีโซลาร์รูฟอีก 4 เมกะวัตต์ รวมเป็นประมาณกว่า 540 เมกะวัตต์ โดยในส่วนนี้จ่ายไฟฟ้าแล้วกว่า 300 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการสร้างโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) อีก 7 โรง จะทยอยแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 60-63 ก็จะจ่ายไฟฟ้าได้ครบทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะเสนอขอขายไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม จำนวน 2 โครงการ กำลังผลิตรวมเกือบ 20 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเป็นการร่วมทุนกับพันธมิตร
นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการเตรียมยื่นไฟลิ่งเพื่อนำบริษัท WHA UTILITY & POWER เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น โดยคาดว่าจะยื่นไฟลิ่งในสิ้นเดือนก.ค.นี้ เพื่อกระจายหุ้นราว 25-30% เข้าจดทะเบียนได้ในไตรมาส 4/59 ถึงไตรมาส 1/60 โดยเบื้องต้นคาดว่ามีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) กว่า 2 หมื่นล้านบาท
ส่วนธุรกิจดิจิทัล ซึ่งดำเนินโครงการการบริหารคลังข้อมูลดิจิทัล (Data Center) นั้นคาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับบริษัทตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปราว 700 ล้านบาท หลังจากโครงการแห่งแรกจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้ ขณะที่โครงการแห่งที่ 2 จะเสร็จในปี 60 ส่วนโครงการแห่งที่ 3 จะเสร็จในปี 61 ซึ่งทั้ง 3 โครงการเป็นการลงทุนของบริษัทเอง แต่ขณะเดียวกันบริษัทยังอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตร เพื่อร่วมกันทำโครงการแห่งที่ 4 ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ โดยเบื้องต้นวางเป้าหมายจะมี Data Center ทั้งสิ้น 5 แห่งใน 2-3 ปีข้างหน้า
นางสาวจรีพร กล่าวอีกว่า บริษัทยังมองโอกาสการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ใกล้บริเวณสนามบินอู่ตะเภา จ.ระยอง ซึ่งรัฐบาลมีแผนจะพัฒนาเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานที่อู่ตะเภา ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีพื้นที่กว่า 1 พันไร่ แต่ได้กันพื้นที่ราว 500 ไร่ ซึ่งอยู่ใกล้กับสนามบินอู่ตะเภา เพื่อใช้รองรับลูกค้าในกลุ่มผลิตและซ่อมบำรุงอากาศยานในอนาคตด้วย ซึ่งคาดว่าน่าจะมีความชัดเจนในอีก 2 เดือนข้างหน้า