ทริสเรทติ้งปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) หรือ KGI เป็นระดับ “A-" จากระดับ “BBB+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตในครั้งนี้สะท้อนถึงพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านเสถียรภาพและการกระจายตัวทางธุรกิจของบริษัท นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการสนับสนุนทางธุรกิจที่ชัดเจนจากผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทคือ KGI Securities Co., Ltd. หรือกลุ่มเคจีไอในไต้หวัน ความแข็งแกร่งดังกล่าวช่วยทำให้บริษัทมีชื่อเสียงในฐานะผู้นำในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ และมีผลงานเป็นที่ยอมรับจากความสามารถในการทำกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากความผันผวนของธุรกิจหลักทรัพย์และแรงกดดันด้านอัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงด้วยเช่นกัน
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานภาพทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เอาไว้ได้และยังคงมีรายได้ที่สม่ำเสมอจากรายได้ที่ไม่ได้มาจากค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์แม้ว่าตลาดหลักทรัพย์ไทยยังมีความผันผวนอย่างมากก็ตาม นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถควบคุมความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดจากการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ การลงทุนในหลักทรัพย์ และการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ ได้
โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทมีค่อนข้างจำกัดในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้า ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจเกิดขึ้นได้หากความสามารถในการทำกำไรของบริษัทลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องและไม่สามารถรักษาสถานภาพทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และไม่สามารถรักษารายได้ที่สม่ำเสมอจากรายได้จากการจัดการกองทุนของบริษัทลูก
KGI มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งอีกทั้งยังมีความหลากหลายในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนมีรายได้ที่สม่ำเสมอจากธุรกิจอื่นนอกเหนือจากค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์ ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รายได้ค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์มีสัดส่วนต่ำกว่า 50% ของรายได้รวมของบริษัทเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ระดับ 67% การขยายฐานรายได้ในส่วนที่ไม่ได้มาจากค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์ช่วยให้บริษัทมีความพร้อมมากขึ้นในการรับมือกับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นหลังการเปิดเสรีค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์
กำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 20%-30% ของรายได้รวมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้นมาจากธุรกรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการซื้อขายตราสารหนี้ ธุรกิจการซื้อคืนภาคเอกชน การออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ธุรกิจตราสารอนุพันธ์นอกตลาด ตลอดจนการลงทุนของบริษัทในตราสารหนี้และตราสารทุน
นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้ที่สม่ำเสมอจากการบริหารจัดการกองทุนของ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้นอยู่ 99% ด้วย รายได้จากธุรกิจบริหารจัดการกองทุนซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 19% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัทในปี 2558 ถือว่าเป็นแหล่งรายได้ที่มีความผันผวนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับรายได้จากแหล่งอื่น ๆ ในธุรกิจหลักทรัพย์
บริษัทจัดได้ว่าเป็นผู้นำในการพัฒนานวัตกรรมสินค้าใหม่ ๆ โดยมีความได้เปรียบจากการนำความรู้ทางวิศวกรรมการเงินตลอดจนประสบการณ์ของกลุ่มเคจีไอไต้หวัน ซึ่งอยู่ในตลาดการเงินที่มีการพัฒนามากกว่ามาใช้ในประเทศไทย การมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายช่วยให้บริษัทสามารถดึงดูดกลุ่มนักลงทุนที่มีความต้องการบริการที่แตกต่างกันเข้ามาเป็นลูกค้าของบริษัท ทั้งนี้ บริษัทพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องให้ล้ำหน้าคู่แข่งเพื่อจะมีโอกาสได้รับอัตราผลกำไรที่สูงก่อนที่จะเกิดการแข่งขันมากขึ้นในตลาด
ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทในธุรกิจนายหน้าซื้อขายตราสารทุนในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2559 อยู่ที่ระดับ 3.58% โดยอยู่ในลำดับที่ 9 ซึ่งต่ำกว่าส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทที่ 3.88% ในปี 2558 และ 4.28% ในปี 2557 บริษัทมีฐานลูกค้าที่ซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตอยู่ในสัดส่วนที่สูงซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตราค่านายหน้าค่อนข้างต่ำ ทำให้อัตราค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทลดลงจากระดับ 0.15% ในปี 2554-2555 ลงมาอยู่ที่ระดับ 0.10% ในปี 2558 ทั้งนี้ มูลค่าซื้อขายจากลูกค้ารายใหญ่ 20 รายแรกเพิ่มขึ้นจาก 33% ในปี 2557 มาอยู่ที่ระดับ 40% ของมูลค่าซื้อขายทั้งหมดของบริษัทในปี 2558 (ไม่รวมการซื้อขายในบัญชีของบริษัท) บริษัทยังคงพึ่งพิงลูกค้ารายใหญ่ซึ่งมีอำนาจในการต่อรองค่อนข้างสูงในเรื่องอัตราค่าคอมมิชชั่นซึ่งจะมีผลทำให้รายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทมีความผันผวนมากกว่าคู่แข่งขัน
การซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของบริษัททำให้บริษัทมีความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ในตลาดในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม บริษัทมีผลงานที่เป็นที่ยอมรับในการทำกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์อย่างต่อเนื่องทุกปีในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา โดยบริษัทมีเงินลงทุนทั้งในตราสารหนี้และตราสารทุน นอกจากนี้ กำไรจากการลงทุนส่วนใหญ่ยังเกิดจากการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้วย อาทิ ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ และธุรกิจตราสารอนุพันธ์นอกตลาด การมีกลยุทธ์ในการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมด้วยการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินเหล่านี้จะมีความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ในตลาดไม่สูงนัก สำหรับความเสี่ยงด้านเครดิตนั้น บริษัทมีการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์อันนำมาซึ่งความเสี่ยงด้านเครดิตอยู่ในระดับ 1,600 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 คิดเป็น 3% ของการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ของทั้งอุตสาหกรรม และคิดเป็นประมาณ 31% ของส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท
บริษัทมีผลกำไรสุทธิลดลงเหลือ 588 ล้านบาทในปี 2558 เทียบกับ 762 ล้านบาทในปี 2557 ผลกำไรสุทธิที่ลดลงดังกล่าวส่วนใหญ่มาจากการลดลงของรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ซึ่งเป็นไปตามภาวะอุตสาหกรรม ณ สิ้นปี 2558 ระดับความเสี่ยงทางการเงินซึ่งวัดจากอัตราส่วนสินทรัพย์ที่ปรับตัวเลขแล้วต่อส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงจาก 1.7 เท่า ณ สิ้นปี 2557 มาอยู่ที่ 1.5 เท่า บริษัทมีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิต่อหนี้สินทั่วไปอยู่ในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปี 2558 อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 131% ซึ่งเป็นระดับที่สูงมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งรายอื่น ๆ หรือเกณฑ์ที่ทางการกำหนดไว้ที่ระดับ 7%