นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานสำหรับธุรกิจโรงไฟฟ้าของบริษัทในเครือ 2 แห่ง คือ บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด (BEC) และ บริษัทบุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด (BPC) โดยจะโอนสิทธิรายได้สุทธิจากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าของทั้ง 2 บริษัท
สำหรับธุรกิจโรงไฟฟ้าของบริษัทเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่ผลิตจากกากอ้อย ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายมาเป็นเชื้อเพลิงจำนวน 2 แห่ง กำลังการผลิตรวม 19.8 เมกะวัตต์ และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ (COD) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดย กฟภ.ตกลงรับซื้อปริมาณพลังงานไฟฟ้าสูงสุดรวม 16 เมกะวัตต์
โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลดังกล่าวอยู่ภายใต้การดำเนินงานโดย บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. จำนวน 8 เมกะวัตต์ ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการยื่นปรับเปลี่ยนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นรูปแบบ FiT Freed-in Tariff (FiT) ที่กำหนดราคาซื้อขายไฟฟ้าอยู่หน่วยละ 4.54 บาทต่อหน่วย และบริษัท บุรีรัมย์ เพาเวอร์ จำกัด ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กับ กฟภ. จำนวน 8 เมกะวัตต์ ในรูปแบบ FiT เช่นกัน
ทั้งนี้ การระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานนั้น มีเป้าหมายเพื่อนำเงินทุนที่ได้รับไปใช้ในการลงทุนขยายธุรกิจโรงงานน้ำตาลทราย โดยปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการวางแผนการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลทรายแห่งใหม่จำนวน 2 โรง ได้แก่ ที่อำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์และ ที่อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ กำลังการผลิตหีบอ้อยโรงงานละ 2 หมื่นตันอ้อย/วัน/โรง
โรงงานน้ำตาลทั้ง 2 แห่งจะใช้โมเดลธุรกิจรูปแบบเดียวกับที่ทำแล้วประสบความสำเร็จในปัจจุบัน คือ การให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านไร่ การยกระดับความสามารถและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและชุมชน การผลิตน้ำตาลทรายและนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ เช่น โรงไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล
และที่อยู่ระหว่างการศึกษาและวางแผนคือ โครงการก่อสร้างโรงงานแปรรูปน้ำตาลทราย หรือ Refinery เพื่อผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์เกรดสูง ที่ช่วยเพิ่มยอดขายต่อหน่วยได้สูงกว่าน้ำตาลทรายดิบ มีผลให้รายได้จากการดำเนินธุรกิจน้ำตาลทรายของกลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ที่จะสูงขึ้นในอนาคต
หลังจากจัดตั้งกองทุนแล้ว บริษัทจะเข้าไปถือหน่วยลงทุนเป็นจำนวนไม่เกิน 1 ใน 3 ของจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดของกองทุน และบริษัทฯ ยังจะได้รับส่วนแบ่งเงินปันผลตามสัดส่วนการถือหน่วยลงทุน
“การจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานนี้ ถือเป็นจังหวะที่เหมาะสมของบริษัทที่ต้องการระดมทุนผ่านการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำไปใช้ขยายธุรกิจทั้งในส่วนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การพัฒนาคุณภาพน้ำตาลทราย และการขยายธุรกิจต่อเนื่องเพื่อรองรับการเติบโตแบบก้าวกระโดดของบริษัทฯ ในอนาคต อีกทั้งการออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐานในครั้งนี้ จะทำให้นักลงทุนมีทางเลือกการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนสม่ำเสมอในระยะยาวที่น่าสนใจจากการลงทุนได้ดียิ่งขึ้น" นายอนันต์ กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทฯ กำหนดวันจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานในวันพฤหัสบดีที่ 8 ก.ย. 59 เวลา 10.00 น. ณ โรงแรมอโนมา กรุงเทพฯ
ด้านนายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าของ BRR คาดว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก เนื่องจากสภาวะตลาดที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเช่นนี้
ผู้ลงทุนจะได้รับประโยชน์ภาษีของกองทุนตามประเภท เช่น นักลงทุนบุคคลจะได้รับผลตอบแทนเต็มที่โดยยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่ายถึง 10 ปี ตามสภาวะปัจจุบัน มูลค่าของกองทุนฯจะมีโอกาสสูงที่มีมูลค่ากองทุนสูงกว่ามูลค่าขั้นต่ำนี้ ทั้งนี้มูลค่าสุดท้ายจะขึ้นอยู่กับกระบวนการกำหนดราคาด้วยระบบ Book-Building ในช่วงเวลาเตรียมการเสนอขายซึ่งจะไม่ต่ำกว่ามูลค่าขั้นต่ำ 3,600 ล้านบาทตามที่คณะกรรมการกำหนดไว้